ขอขอบพระคุณเครดิตจาก Sangkae'sBlog
วันนี้คุณแม่ของผู้เขียนไปเก็บดอกไม้ที่ผู้เขียนปลูกไว้ในสวนมาให้
พลางบอกว่า “ดูสิ…กลิ่นมันสุดๆ ไปเลยนะ เวลามาอยู่รวมกันอย่างนี้”
ในถาดนั้นมีดอกพุดซ้อน สายหยุด และกระดังงา ผู้เขียนหยิบขึ้นมาดมทีละอย่าง
โดยหยุดที่กระดังงาและสายหยุดนานหน่อย เพราะเพิ่งจะเปรียบเทียบกลิ่นดอกไม้ 2
ชนิดลงในบทความก่อนหน้านี้ไป แต่ก็ยังคาใจอยู่ไม่หาย
ว่าตัวเองเขียนบรรยายกลิ่นดอกไม้ทั้งสองถูกตรงกับความเป็นจริงหรือยัง
จึงไปเอากระดาษปากกามาเขียนความรู้สึกลงไปเดี๋ยวนั้นเลย
ว่ากลิ่นของมันแตกต่างกันอย่างไรแน่
สำหรับกระดังงานั้นได้เขียนลงไปว่า “หอมแบบผู้หญิง (feminine)
กลิ่นแบบดอกไม้ (floral) อบอุ่น (warm) เย้ายวน (narcotic) และละมุน (soft)
กว่าสายหยุด” ส่วนสายหยุดนั้นมีกลิ่นออกเปรี้ยวแบบผลไม้ (fuity) สดชื่น
(fresh) แหลม (sharp) กว่ากระดังงา ลักษณะกลิ่นซาบซ่านคล้ายตะไคร้หอม
(citronella) อยู่นิดๆ เหมือนกัน แม้จะไม่เข้มข้นรุนแรงเท่า
เพราะมีความหวานแบบกลิ่นดอกไม้เจือปนอยู่ด้วย
ทั้งหมดนี้เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนบทความนี้ขึ้นมา
เพราะอยากจะขุดค้นว่า
ทำไมคนเราจึงมีคำบรรยายหรือพรรณนากลิ่นที่เราเก็บบันทึกไว้ในสมองน้อยนัก
เวลาเราดมกลิ่นอะไรๆ จึงยากนักที่จะหาคำคุณศัพท์ หรือ adjective
มาใช้อธิบายความรู้สึกของเราได้อย่างละเอียดลึกซึ้งพิสดาร
และต้องตรงกับความรู้สึกจริงๆ เวลาผู้เขียนสัมภาษณ์คนรู้จัก เพื่อน
หรือคนในครอบครัว ว่ารู้สึกอย่างไรกับกลิ่นต่างๆ ที่ผู้เขียนเอาให้พวกเขาดม
ส่วนใหญ่ก็บอกได้แต่ว่ามันหอมหรือเหม็น ถูกใจ ไม่ถูกใจ หรือว่าเฉยๆ
แต่อธิบายลงลึกในรายละเอียดไม่ค่อยได้ว่าที่หอมนั้นมันหอมยังไง
คงจะเหมือนกับที่ คาลิล ยิบราน มหากวีชาวอาหรับเคยกล่าวไว้ทำนองว่า
ความรู้สึกเบื้องลึกในหัวใจนั้น ยากจะเอามาขังไว้ในกรงแห่งคำพูด
การรับรู้กลิ่นนั้นเป็นเรื่อง instinctive และ primitive จริงๆ
ในความรู้สึกของผู้เขียน หลายครั้งที่เราสูดกลิ่นอายบางอย่างเข้าไป
แล้วเกิดความประทับใจหรือตรึงใจจนไม่อาจจะบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ถูก
ผู้เขียนเขียนบล็อกนี้มาร่วม 2 ปีแล้ว
ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะหาคำคุณศัพท์ภาษาไทยที่ไพเราะสละสลวย
มาอธิบายกลิ่นของสิ่งต่างๆ
โดยพยายามที่จะสื่อความเข้าใจให้แก่ผู้อ่านได้อย่างชัดเจนในเวลาเดียวกัน
ด้วยว่า ผลิตผลจากธรรมชาติแต่ละชนิดนั้นมันมีลักษณะกลิ่นอย่างไร
และจะแยกความแตกต่างหรือความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละกลิ่นได้อย่างไร
เพราะผู้เขียนไม่อยากจะพูดซ้ำๆ แต่ว่า หอม หอมฟุ้ง หอมขจรขจาย หอมระรื่น
หอมตลบอบอวล ฯลฯ อย่างที่ผู้อ่านคงจะพบอยู่หลายๆ จุดในบทความบนบล็อกนี้
เนื่องจากคำขยายความเหล่านี้ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลพิเศษหรือลึกซึ้งอะไรมากไป
กว่าการเน้นย้ำว่าหอมมากเท่านั้นเอง
แต่อนิจจา…ถึงตอนนี้ผู้เขียนก็ยังไม่เชี่ยวชาญในการขุดค้นเอาคำศัพท์ที่
บันทึกไว้ในคลังสมองมาบรรยายกลิ่นของสิ่งต่างๆ ได้อย่างฉับพลัน
ยังต้องใช้เวลาเสาะแสวงหาและคิดกรองอยู่นาน
ซึ่งเป็นอาการที่ผู้เขียนอยากจะเรียกว่า ‘สมองตามไม่ทันหัวใจ’
ผู้เขียนไปเปิดอ่านวรรณคดีไทยต่างๆ
ที่กวีท่านร้อยเรียงคำพรรณนากลิ่นของมวลพฤกษาต่างๆ ในบทชมดง
ก็พบแต่ลูกเล่นทางภาษา
ซึ่งก็คือการใช้คำหลากหลายหรือเปลี่ยนรูปแบบของคำไปต่างๆ นานา
แต่คำทั้งหมดนั้นก็ไม่แคล้วสื่อถึงคำว่า “หอม” หรือ “หอมมาก” อยู่นั่นเอง
มันก็ยังไม่บ่งบอกอีกแหละว่าที่หอมนั้นหอมยังไง หอมนวล หอมแหลม หอมหวาน
หอมเปรี้ยว หอมอ่อน หอมฉุน หอมขื่น หรือหอมแปร่งปร่า
แต่มันก็คงพิลึกน่าดูอีกนั่นแหละหากกวีท่านจะใส่คำวิเศษณ์ที่ผู้เขียนทะลึ่ง
คิดขึ้นนี้ลงไปในร้อยกรองของท่าน
เรื่องภาษาบรรยายกลิ่นนี้ผู้เขียนว่าฝรั่งเขาได้เปรียบมากกว่าเรา
ดูเหมือนเขาจะมีคลังเก็บคำพวกนี้ไว้มาก แค่กับคำว่าหอมอย่างเดียวนั้น
เขาสามารถอธิบายต่อไปได้ร้อยแปดว่าหอมอย่างไร เช่น crisp, fresh,
uplifting, light, subtle, gentle, calm, round, mellow, soft, sweet,
powdery, rich, heady, sour, tangy, tart, bitter, spicy, sharp, loud
(บางคนถึงกับใช้คำว่า screaming หรือ high-pitched
สำหรับกลิ่นที่สามารถน็อคคุณสลบไปได้ง่ายๆ)
มีหลายคำที่เป็นคุณศัพท์ซึ่งปกติมักใช้กับคำนามประเภทอื่น
แต่เขาก็มีอิสระที่จะเอามาใช้บรรยายกลิ่นได้อย่างหน้าตาเฉย
แถมได้อย่างไพเราะตรึงใจเสียด้วย เช่น deep, earthy, delicious,
mouth-watering, succulent, luscious, smooth, creamy, buttery, sumptuous,
cozy, enveloping, tender, exquisite, delicate, fragile, ethereal,
poetic, romantic, dreamy, enchanting, alluring, sparkling, luminous,
captivating, charming, pretty, lovely, girly, lighthearted, playful,
magical, haunting, intoxicating, mysterious, dark, sexy, sultry,
luxurious, magnificent, demure, dainty, feminine, elegant, lady-like,
pure, carefree, innocent, joyous, cool, aloof, quiet, tranquil, serene,
intellectual, melancholic ฯลฯ
ผู้เขียนว่าถ้าเป็นภาษาไทยก็คงจะทะแม่งๆ เหมือนกันหากจะใช้คำว่า หอม
“วิจิตร”, หอม “ละเอียดอ่อน”, หอม “ลึกซึ้ง” (หอมซึ้งน่าจะยังพอไหว), หอม
“สุกสว่าง”, หอม “พร่างพราย”, หอม “มืดหม่น”, หอม “โอ่อ่า”, หอม
“สงบเสงี่ยมเอียงอาย”, หอม “ซุกซน”, หอม “แบบกุลสตรี”, หอม “พิสุทธิ์”, หอม
“ไร้เดียงสา”, หอม “โดดเดี่ยว”, หอม ‘สงบเยือกเย็น’, หอม “ทรงสติปัญญา”
หรือ หอม “อาดูร”!
จึงไม่แปลกใจเลยที่เวลาอ่าน review น้ำหอมของพวกฝรั่งเขา
ผู้เขียนจะรู้สึกสนุกสนานมาก
เพราะเขาช่างเปรียบเทียบและสรรคำมาใช้ได้อย่างละเอียดพิสดาร อีกทั้งมักจะมี
flashback หรือภาพความทรงจำในอดีตมาประกอบการบรรยายด้วย
ปลุกเร้าจินตนาการได้ดีจริงๆ ต่างจาก review
น้ำหอมของคนไทยซึ่งดูจะไม่ผาดแผลงพิสดารถึงขนาดนั้น
ซึ่งก็เป็นไปในทำนองเดียวกับที่ผู้เขียนอ่านพบในวรรณคดีต่างๆ
อย่างที่อธิบายไปข้างต้นแล้ว
ผู้เขียนว่าที่เป็นอย่างนั้นเพราะฝรั่งเขาหมกมุ่นกับกลิ่นมากกว่าคนไทย
perfumery นั้นเป็นศาสตร์และศิลป์สาขาหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญมาก
ขณะที่บ้านเรานั้นความสนใจเรื่องนี้จริงๆ จังๆ ยังอยู่ในคนกลุ่มน้อย
ผู้เขียนสังเกตว่าสาวไทยบางพวกมักซื้อน้ำหอมเพราะติดแบรนด์
คือเชิดชูว่าเป็บแบรนด์หรูอย่าง Dior, Chanel, Guerlain, Yves Saint
Laurent หรือ Nina Ricci
แต่ถ้าถามว่ารู้จักกลิ่นน้ำหอมของแบรนด์เหล่านี้ลึกซึ้งแค่ไหน
ส่วนมากก็จะรู้จักแต่กลิ่นที่ออกมาใหม่ๆ
และเป็นแฟชั่นที่นิยมกันอยู่ในขณะนั้น ส่วนกลิ่นที่เหล่าคอน้ำหอมยกย่องว่า
สร้างสรรค์ออกมาได้ดีมีคุณภาพนั้น คนส่วนมากมักไม่รู้จัก
เพราะบางกลิ่นก็เลิกผลิตไปแล้ว จะหาซื้อได้ก็ตามเว็บไซต์น้ำหอมของเมืองนอก
บางทีถึงขนาดต้องไปประมูลเอาใน Ebay ด้วยราคาสูงมาก
หรือไปขอแลกตัวอย่างน้ำหอมกับเพื่อนฝรั่งเอาอย่างที่ผู้เขียนทำอยู่บ่อยๆ
คนไทยก็เลยไม่สนใจหรือกระตือรือร้นที่จะทดลองกลิ่นแปลกๆ
หรือหายากพวกนี้สักเท่าไหร่ เพราะต้องใช้ความพยายามมากเกินไป
คิดว่าคงไม่คุ้มกับเวลาที่ต้องเสียไป
สู้ซื้อน้ำหอมที่มีขายอยู่ในท้องตลาดเวลานี้เอาจะง่ายและสะดวกกว่า
เรื่องนี้ผู้เขียนว่าหากซื้อเพราะชอบกลิ่นจริงๆ ก็ไม่เป็นปัญหาอยู่แล้ว
แต่ยอมรับว่ามีหลายคนซื้อเพราะเป็นแบรนด์ที่คนทั่วไปรับรู้กันว่า ‘หรู’
หรือ ‘เป็นของนอก’ ซึ่งก็น่าเสียดายอยู่เหมือนกัน
เพราะน้ำหอมนั้นมันมีค่าอยู่ในตัวของมันเอง
หากจะตัดสินก็ควรตัดสินที่ตัวของมัน ไม่ใช่เปลือกนอกที่หุ้มห่อมันไว้
Chanel, Dior หรือ Guerlain บางกลิ่นจึงอาจจะไม่ได้เรื่องเอาเสียเลยก็ได้
(แบบที่ผู้เขียนชอบค่อนขอดอยู่ในใจบ่อยๆ ว่า ‘เหลาเหย่’)
ไม่ใช่ว่ามันเป็นแบรนด์หรูแล้วจะปรุงแต่งออกมาได้ดีหรือตรงใจเราเสมอไป
อาจมีคนคิดว่า
การที่คนไทยไม่หลงใหลหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ก็ดีอยู่แล้ว
ผู้เขียนเองก็เห็นดีด้วย แต่ก็คิดว่าความกระตือรือร้นในการทดลองอะไรใหม่ๆ
สนใจแนวคิดใหม่ๆ
กระทั่งสามารถสร้างรสนิยมที่เป็นตัวของตัวเองนั้นเป็นทัศนคติสำคัญในการ
พัฒนาชาติเหมือนกัน อย่าลืมว่าชาติจะขับเคลื่อนไปได้นั้น
ความรุ่งเรืองทางอารยธรรมก็เป็นของจำเป็น
การมองหาส่วนดีหรือความเก่งของฝรั่ง
แล้วเอามาพัฒนาของเราให้ดียิ่งขึ้นไม่ใช่สิ่งที่ดีหรอกหรือ
สิ่งที่ผู้เขียนว่าฝรั่งเก่งมากก็คือ
ความคิดสร้างสรรค์แบบนอกกรอบและcutting-edge
เขาต้องแข่งขันกันมากในเรื่องนี้
เพราะผู้บริโภคของเขามีความเรียกร้องต้องการสูง
และมีรสนิยมเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างมากอย่างที่ผู้เขียนได้พูดถึงไปแล้ว
ซึ่งมันก็พลอยทำให้สินค้าของเขาต้องมีคุณภาพหรือมีความน่าสนใจสูงตามไปด้วย
ผู้เขียนว่าถ้าเราให้ความสนใจศึกษาผลิตผลจากความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้
แม้ว่าจะไม่ได้ถูกรสนิยมเราไปเสียทั้งหมดก็ตาม
ก็เป็นเครื่องยกระดับสติปัญญาได้ทางหนึ่งเหมือนกัน
การรักษาของเก่านั้นเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว
เพราะเป็นการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน
แต่หากเราสามารถใช้ของเก่าที่เรามีอยู่มาเป็นพื้นฐาน แล้วคิดแตกยอดออกไปได้
สร้างสรรค์สิ่งใหม่เข้ามาประกอบด้วยแทนที่จะยึดติดกับแบบแผนเดิมอย่างตายตัว
นั่นต่างหากที่จะทำให้เราสามารถสร้างความรุ่งเรืองทางอารยธรรมขึ้นมาได้
ซึ่งเท่ากับการสร้างชาติให้เจริญมั่นคง
บางครั้งผู้เขียนก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่า ความพยายามจะ ‘ดักจับ’
เอาความรู้สึกที่เป็นนามธรรม ซึ่งหลุดลอยหายไปได้ในพริบตาราวหมอกควัน
แล้วพยายามหน่วงรั้งมันไว้ในแบบที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้อย่างเช่นภาษา
เป็นความพยายามที่ไร้สาระไหมหนอ
เพราะความรู้สึกหรือความตระหนักรู้อย่างฉับพลันทันทีถึงความงามของสิ่งใด
สิ่งหนึ่งนั้น มันน่าจะเป็น first hand experience
คือเป็นประสบการณ์ของใครของมันมากกว่า
สรุปแล้วมันเป็นเรื่องยากที่จะบอกเล่าให้ใครมา appreciate
อะไรในแบบเดียวกับเราได้
ตราบเท่าที่เขาไม่ได้สัมผัสกับของจริงด้วยตัวเขาเอง
และเมื่อเขาได้ทดลองของจริงแล้ว
กลิ่นหนึ่งที่เราอธิบายว่าหอมอย่างนั้นอย่างนี้ เขาอาจจะรู้สึกเฉยๆ
หรือคิดในด้านลบไปเลยก็ได้
ชวนให้กังขาอยู่เหมือนกันว่าไอ้การเขียน review กลิ่นน้ำหอมต่างๆ
ที่ฝรั่งและคนไทยบางกลุ่มก็ชอบทำกันนั้น
มันตอบสนองความต้องการคนอ่านที่อยากได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อน้ำหอม
ราคาแพงสักขวดได้มากน้อยแค่ไหน เพราะมีบท review
จำนวนมากที่ผู้เขียนอ่านแล้วอด ‘ฝัน’ ตามไปด้วยไม่ได้
แต่เมื่อได้สัมผัสของจริงแล้วก็พบว่าเป็นอะไรที่ห่างไกลความฝันนั้นมากมาย
นัก พูดง่ายๆ ก็คือบท review
นั้นไม่ได้ให้อะไรมากไปกว่าการอ่านวรรณกรรมชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง
จึงเดาเอาว่าการเขียน review
ส่วนมากก็คือการตอบสนองความอยากจะบอกเล่าหรือแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ
ของตัวเองให้คนอื่นฟัง
และมีคนจำนวนมากซึ่งรวมทั้งผู้เขียนด้วยที่ชอบเข้าไปอ่านด้วยความ
‘สุนทรีย์’ ในหัวใจ
โดยเลิกแคร์ไปแล้วว่าจะต้องเอาความเห็นเหล่านั้นมาประกอบการตัดสินใจซื้อ
อะไร
เพราะไม่มีใครทำให้ผู้เขียนเชื่อได้ตราบเท่าที่ไม่ได้ลองน้ำหอมกลิ่นนั้น
ด้วยตัวเอง
พูดไปแล้วก็อยากรู้เหมือนกันว่าผู้อ่านล่ะ…เชื่อผู้เขียนหรือเปล่าเวลา
เข้ามาอ่านบทพรรณนากลิ่นหอมขจรขจายของดอกไม้สารพัดสารพันในบล็อกนี้
ผู้เขียนก็เพียงอยากจะบอกว่า ไม่ได้คาดหวังให้ใครเชื่อเหมือนกัน
เพราะทั้งหมดเป็นอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียนเองเมื่อสัมผัสกับสิ่งเหล่า
นั้น
เป็นการทดลองหรือเล่นสนุกกับความพยายามดักจับเอาความรู้สึกที่เป็นนามธรรมมา
ทำให้มันเป็นรูปธรรมเท่านั้นเอง ก็หวังเพียงว่าผู้อ่านจะอ่านด้วยความ
‘สุนทรีย์’ ในหัวใจเหมือนกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น