Social Icons

facebookgoogle pluslinkedinrss feedemail

หอมมะลิ…หอมกลิ่นรัก โดยคุณแสงแข

มะลิซ้อน หรือ Jasminum sambac เป็นชนิดที่นิยมปลูกกันในหลายประเทศเขตร้อน ซึ่งรวมถึงไทยเราด้วย ที่มาภาพ : www.toptropicals.com
มะลิซ้อน หรือ Jasminum sambac เป็นชนิดที่นิยมปลูกกันในหลายประเทศเขตร้อน ซึ่งรวมถึงไทยเราด้วย ที่มาภาพ : http://www.toptropicals.com
มะลิ เป็นดอกไม้ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี สีขาวบริสุทธิ์และกลิ่นหอมชื่นใจ ทำให้มะลิถูกนำไปเปรียบกับความสูงส่งดีงาม กระทั่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ คนไทยยังนิยมใช้มะลิในพิธีการสำคัญ เช่น ทำพานพุ่มไหว้ครู ร้อยมาลัยถวายพระ หรือ ใช้รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในวันสงกรานต์ มะลิในวัฒนธรรมไทย จึงมักผูกพันกับ “ของสูง” คงเพราะมะลินั้นถือเป็นยอดของดอกไม้หอมทั้งมวล จึงเหมาะจะนำมาใช้แสดงความเคารพบูชาอย่างสูงสุดต่อผู้มีพระคุณ คำกล่าวที่ว่าความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดีนั้นอยู่ในจิตวิญญาณของคนไทย มาแต่โบราณกาล
เมื่อนึกถึงมะลิ จึงเชื่อว่าหลายคนก็คงอดนำไปเชื่อมโยงกับ “พระ” หรือ “แม่” ไม่ได้ ขณะที่คุณสมบัติทางโรแมนติค หรือกระทั่งอีโรติคของมะลินั้น ออกจะถูกพูดถึงอยู่น้อยในวัฒนธรรมไทย อาจมีการกล่าวถึงในวรรณคดีโบราณ แต่ก็มักไม่มีอะไรลึกซึ้งไปกว่าการที่ตัวเอกได้ชมความงามหรือได้กลิ่นหอม จรุงใจของมะลิ ก็ให้ระลึกถึงนางผู้เป็นที่รัก
ตำนานหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับความโรแมนติคของมะลินั้น กลับถูกเน้นหนักอย่างมากในวัฒนธรรมต่างชาติ กระทั่งใครที่เคยคิดว่ากุหลาบเป็นดอกไม้แห่งความรักอาจต้องเปลี่ยนใจ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และปากีสถาน ยกย่องมะลิเป็นดอกไม้ประจำชาติ ในอินโดนีเซียนั้น มะลิหรือ Melati คือสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความรักนิรันดร์ และความงามของสาวแรกรุ่น มะลิมักถูกใช้ในพิธีแต่งงานของชนพื้นเมือง และพิธีกรรมทางศาสนาในเกาะชวาและบาหลี
ส่วนที่ฟิลิปปินส์นั้น มะลิมีชื่อแสนไพเราะว่า “Sampaguita” และกลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ดนตรี และวรรณกรรมอย่างแพร่หลาย ชื่อ Sampaguita นี้มีที่มาจากตำนานพื้นบ้าน เป็นเรื่องราวของเจ้าหญิงแสนสวยผู้สืบทอดอำนาจจากพระบิดาซึ่งเพิ่งสิ้นพระ ชนม์ เจ้าหญิงซึ่งไร้ประสบการณ์ในการปกครองบ้านเมือง ต้องเผชิญภัยจากการรุกรานของข้าศึกศัตรู แต่เธอก็ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าชายผู้กล้าหาญ ทั้งสองตกหลุมรักซึ่งกันและกัน ก่อนที่เจ้าชายจะจากไปเพื่อนำทัพไปสู้รบกับข้าศึก เจ้าหญิงได้กล่าวกับคนรักของเธอบนยอดเขาริมทะเลว่า “Sumpa kita…ฉันให้สัญญา” เพื่อแสดงถึงความรักอันมั่นคงไม่มีวันเปลี่ยนแปลงของเธอ เจ้าหญิงเฝ้าคอยวันแล้ววันเล่าถึงการกลับมาของเจ้าชาย แต่สุดท้ายคนรักของเธอก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับ เจ้าหญิงจึงสิ้นพระชนม์ด้วยหัวใจแหลกสลาย ยอดเขาแห่งนั้นกลายเป็นหลุมฝังศพเจ้าหญิง เมื่อเวลาผ่านไป มีดอกไม้กลิ่นหอมสีขาวบริสุทธิ์เจริญเติบโตขึ้นบนหลุมศพ ดอกไม้นี้จึงมีชื่อเรียกว่า Sampaguita เพื่อระลึกถึงความรักอันมั่นคงของเธอ
การเชื่อมโยงมะลิกับความรักและหญิงงามยังมีให้เห็นในประวัติศาสตร์ของ เกาะฮาวาย มะลิเป็นดอกไม้โปรดของเจ้าหญิงรัชทายาทองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรฮาวาย ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองและรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกาในท้ายที่สุด เจ้าหญิงองค์นี้ทรงพระนามว่า Victoria Ka’iulani Cleghorn ทรงสืบเชื้อสายชนพื้นเมืองจากพระมารดา ผู้เป็นพระภคินีของพระราชินี Lili’uokalani ผู้ครองราชอาณาจักรฮาวายองค์สุดท้าย และสืบเชื้อสายยุโรปจากบิดาชาวสก็อตแลนด์ พระราชินีทรงไม่มีพระราชโอรส-ธิดา จึงทรงสถาปนาเจ้าหญิง Ka’iulani เป็นรัชทายาท
เจ้าหญิง Ka'iulani ผู้ทรงพระสิริโฉม ที่มาภาพ : www.electricscotland.com
เจ้าหญิง Ka'iulani ผู้ทรงพระสิริโฉม ที่มาภาพ : http://www.electricscotland.com
Ka’iulani ทรงพระสิริโฉมงดงามมาก ทรงได้รับการศึกษาจากยุโรป ทั้งยังเชี่ยวชาญรอบด้านในศิลปะหลายแขนง ทำให้ทรงเป็นที่รักของประชาชนอย่างยิ่ง จนได้รับการขนานนามว่า “ดอกไม้แห่งฮาวาย” แต่การโค่นล้มราชวงศ์ทำให้ต้องทรงประทับอยู่ในยุโรป ทว่าระหว่างนั้นได้เสด็จไปอเมริกาครั้งหนึ่งเพื่อขอความเป็นธรรมแก่ประชาชน ของพระองค์ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เจ้าหญิงได้เสด็จกลับฮาวายเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ ประชาชนจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยวัยเพียง 23 ชันษา จากปัญหาสุขภาพ ในปี ค.ศ. 1899 ไม่นานหลังจากฮาวายถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกา
วีรกรรมของเจ้าหญิงผู้งดงามและกล้าหาญยังคงเป็นแรงบันดาลใจแก่นักแสดง นักดนตรี ศิลปิน และกวีร่วมสมัยของฮาวายทุกวันนี้ ดอกมะลิซึ่งเป็นดอกไม้โปรดของเจ้าหญิง ถูกขนานนามว่า “Pikake” ซึ่งเป็นคำฮาวายที่มาจากคำว่า “peacock” หรือนกยูง สัตว์เลี้ยงตัวโปรดของเจ้าหญิงนั่นเอง ชาวฮาวายนิยมคล้องมาลัยที่เรียกว่า Pikake lei ในงานเฉลิมฉลอง ทั้งยังมอบเป็นของขวัญแก่กันเพื่อแสดงถึงความรัก
บริษัทน้ำหอมฝรั่งต่างได้แรงบันดาลใจจากชื่ออันไพเราะเหล่านี้ถึงกับนำไป ตั้งเป็นชื่อน้ำหอม   Ormonde Jayne แบรนด์น้ำหอมชั้นยอดของอังกฤษ ตั้งชื่อกลิ่นที่ใช้มะลิเป็นส่วนผสมหลักว่า Sampaguita ส่วนยี่ห้อใหม่ๆ ในวงการน้ำหอมอเมริกันก็พากันตั้งชื่อน้ำหอมตามชื่อมะลิฮาวาย อย่าง Pikake Lei ของ Ava Luxe หรือ Waikiki Pikaki ของ Pacifica นัยว่าให้ได้ feeling หรูหราเหมือนส่งตรงจากแดนไกล เอาไว้ล่อใจลูกค้าที่หลงใหลวัฒนธรรมต่างแดนและอยากมีกลิ่นพิเศษไม่ซ้ำใคร นั่นเอง ฝรั่งนั้นคลั่งไคล้น้ำหอมกันจริงๆ จังๆ  หนึ่งในกลิ่นที่สาวฝรั่งนิยมหลงใหลและถือกันว่าแพงนักหนาก็คือมะลินี่แหละ แทบทุกยี่ห้อจึงต้องทำกลิ่นมะลิออกขาย และสร้าง image ของกลิ่นให้ดู exotic เข้าไว้ นัยว่าทำกำไรได้มหาศาล  
ความจริงแล้วมะลิที่ ปลูกในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และฮาวายนี้ ก็คือชนิดเดียวกับมะลิซ้อน มะลิลา บ้านเรานั่นแหละ มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Jasminum sambac ฝรั่งเรียกว่า Arabian jasmine มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มะลิที่รู้จักกันทั่วไปในโลกก็มี 2 ชนิดหลัก คือ Jasminum sambac และ Jasminum grandiflorum ซึ่งชนิดหลังนี้เรียกกันทั่วไปว่า Spanish jasmine มะลิที่ปลูกในเมืองไทยยังมีอีกหลายชนิด อาทิ มะลิวัลย์ (Jasminum adenophyllum) มะลุลี (Jasminum pubescens) แต่ที่รู้จักและใช้กันแพร่หลายคือมะลิลาและมะลิซ้อนนี่เอง     
มะลิ sambac นี้หอมแรงและบานตอนกลางคืน ผู้เขียนสังเกตว่ากลิ่นหอมแรงที่สุดตอนกลีบดอกกำลังแย้มออกในเวลาหัวค่ำ ก่อนจะบานเต็มที่ตอนกลางคืน น้ำหอมฝรั่งบางกลิ่นที่ใช้มะลินี้เป็นส่วนผสม จึงตั้งชื่อว่า Night Scented Jasmine บ้างก็ตั้งชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Jasmin de Nuit ให้อารมณ์โรแมนติคดีแท้ แต่ผู้เขียนได้ลองแล้วก็ไม่ประทับใจนัก เพราะกลิ่นไม่ใคร่จะใกล้เคียงกับมะลิจริง    
น้ำหอมกลิ่น Night Scented Jasmine ของ Floris of London แบรนด์น้ำหอมเก่าแก่ของอังกฤษ ที่มาภาพ : www.mimifroufrou.com
น้ำหอมกลิ่น Night Scented Jasmine ของ Floris of London แบรนด์น้ำหอมเก่าแก่ของอังกฤษ ที่มาภาพ : http://www.mimifroufrou.com
ชาวตะวันตกขนานนามมะลิโดยทั่วไปว่า king of flowers และให้กุหลาบเป็น queen ที่เรียก king คงเพราะมะลิมีกลิ่นหอมแรง จึงถูกใช้เป็นส่วนผสมหลักในน้ำหอมคู่กับกุหลาบ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า มะลิ sambac นั้นสมเป็นราชาแห่งดอกไม้ เพราะมีกลิ่นเข้มข้นเย้ายวนกว่าชนิด grandiflorum และหากใครเคยลองเด็ดมะลิที่บ้านมาดมดูนานๆ จะพอจับได้ว่า ในกลิ่นหอมเย็นนั้นจะมีกลิ่นฉุนเจืออยู่เล็กน้อย กลิ่นนี้เกิดจากสาร indole ซึ่งเป็นสารประกอบในกลีบดอกมะลิ มีไว้เพื่อดึงดูดแมลงกลางคืน ซึ่งจะมาผสมเกสรเพื่อขยายพันธุ์ให้แก่ต้นไม้นั่นเอง สาร indole นี้หากมีความเข้มข้นสูงจะมีกลิ่นไม่ชวนดมคล้ายอุจจาระ                                  
สาร indole ในมะลิ sambac มีปริมาณมากกว่าในมะลิ grandiflorum ทำให้มะลิ sambac มีกลิ่นแบบ animalic คือคล้ายกลิ่นสัตว์ มะลิจึงถูกเปรียบเป็นราชา ซึ่งก็คงเพราะมีลักษณะ ‘ความเป็นชาย’ (masculinity) มากกว่ากุหลาบที่มีกลิ่นหอมอ่อนหวานสดใสแบบผู้หญิงนั่นเอง                                             
ถ้ามะลิ sambac เป็นราชาแห่งสนธยา มะลิ grandiflorum ก็คงเป็นราชินีแห่งรุ่งอรุณ เพราะบานยามเช้าตรู่ มะลิ grandiflorum นี้มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ และปลูกแพร่หลายทั่วโลกในเขตภูมิอากาศอบอุ่นเช่นแถบเมดิเตอร์เรเนียน มะลินี้นิยมใช้ทำน้ำหอมมากที่สุด เพราะกลิ่นหอมหวานมาก ทั้งยังมีรูปลักษณ์สวยบอบบาง ให้อารมณ์อ่อนหวานแบบผู้หญิงมากกว่ามะลิ sambac           
มะลิชนิด J. grandiflorum ที่เรียกกันทั่วไปว่า Spanish jasmine ที่มาภาพ : www.logees.com
มะลิชนิด J. grandiflorum ที่เรียกกันทั่วไปว่า Spanish jasmine ที่มาภาพ : http://www.logees.com
มะลินั้นเป็นที่รู้กันดีในทางสุคนธบำบัด (aromatherapy) ว่ามีคุณสมบัติกระตุ้นอารมณ์โรแมนติคหรือ ความต้องการทางเพศ ที่ฝรั่งเรียกว่า “aphrodisiac” ซึ่งก็มาจากคำว่า Aphrodite เป็นชื่อของเทพธิดาแห่งความรักและเสน่ห์ทางเพศอันเย้ายวนในเทพปกรณัมของกรี กนั่นเอง Aphrodite นี้ก็คือองค์เดียวกับเทพีวีนัสในตำนานของชาวโรมันนั่นแหละ ฟังดูแล้วก็อดขันไม่ได้เมื่อนึกถึงความจริงที่ว่ามะลิเป็นดอกไม้ประจำวันแม่ และใช้สำหรับบูชาพระในเมืองไทย
ความ โรแมนติกเย้ายวนของกลิ่นมะลิ มีกล่าวไว้ในเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพระนางคลีโอพัตรา ราชินีผู้เลอโฉมแห่งอียิปต์ และมาร์ค แอนโทนี ขุนพลผู้ทรงอำนาจแห่งโรม หลังจากจูเลียส ซีซาร์ ผู้ปกครองโรมซึ่งเป็นชู้เก่าของพระนางถูกลอบสังหาร ด้วยความมุ่งหวังจะหาขั้วอำนาจใหม่ไว้คุ้มครองตัวเอง พระนางจึงวางแผนใช้เสน่ห์ยั่วยวนเพื่อมัดใจนายทหารใหญ่แห่งโรม เมื่อครั้งล่องเรือจากอียิปต์ไปทาร์ซัส ตามคำเชิญของมาร์ค แอนโทนี            เล่ากันว่าพระนางประทับอยู่บนเรืออันงามวิจิตร มีนักดนตรีขับกล่อมเพลงไพเราะ เหล่านางกำนัลสวยสะคราญคอยปรนนิบัติรับใช้ แถมมีหนุ่มน้อยหน้าตาดีราวกับกามเทพคิวปิดคอยถวายงานพัด ส่วนตัวพระนางคลีโอพัตรานั้นงามราวเทพีวีนัสในภาพวาด ใบเรือสีม่วงถูกประพรมด้วยกลิ่นมะลิหอมรัญจวนใจ ฟุ้งตลบอบอวลไปถึงอีกฝั่งของแม่น้ำเลยทีเดียว มาร์ค แอนโทนี เห็นแล้วถึงกับตะลึงจังงังราวต้องมนตร์สะกด เรียกว่าหลงเสน่ห์พระนางจนโงหัวไม่ขึ้นนับแต่นั้น                     
                                    
ใน ศาสนาฮินดู ก็มีเทพเจ้าแห่งความรัก ที่เรียกว่า กามเทวะ หรือพระกามเทพ ท่านผู้อ่านอย่านำไปสับสนกับคิวปิดที่เป็นเด็กอ้วนตุ้ยนุ้ยในเทพนิยายโรมัน เชียวนา เพราะพระกามเทพของฮินดูนั้นเป็นชายหนุ่มรูปงาม บางตำราก็ว่าทรงเป็นโอรสของพระลักษมี เทวีแห่งความงาม ตรงนี้แหละที่ไปคล้ายคลึงกับตำนานโรมัน เพราะคิวปิดก็เป็นลูกของวีนัสกับชู้คือมาร์ส เทพเจ้าแห่งสงคราม

พระกามเทพนั้นยังคล้ายคิวปิดคือถือศรเป็นอาวุธประจำกาย ศรนี้เรียกว่า “บุษป ศร” คันศรทำจากลำอ้อย มีผึ้งเรียงต่อกันเป็นสายธนู ลูกศรนี้มี 5 ดอก ปลายประดับด้วยดอกไม้หอม 5 ชนิด หนึ่งในนั้นคือดอกมะลิ เมื่อแผลงศรถูกใครเข้าก็จะทำให้เป้าหมายบังเกิดอารมณ์รักใคร่หลงใหลจนยากจะ ไถ่ถอนได้             
     
พระ กามเทพนี้คงเทียบได้กับมารในทางพุทธศาสนา เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความใคร่ที่กักขังสัตว์โลกให้เวียนวนอยู่ในสังสารวัฏ เป็นอุปสรรคขัดขวางการหลุดพ้นจากกิเลส นี่อาจเป็นเหตุผลที่บรรพบุรุษไทยแต่โบราณไม่นิยมสอนลูกหลานให้เอามะลิไปใช้ เสริมเสน่ห์ทางเพศ แต่ให้ใช้บูชาพระแทน ผู้เขียนก็เห็นดีด้วย เสียแต่ว่าผู้เขียนนั้นสนอกสนใจเรื่องกลิ่นหอมๆ เอามาก ทั้งยังทึ่งในกระบวนการผลิตน้ำหอม ซึ่งถือว่าต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์อันละเอียดอ่อน เลยจะขอเล่าต่ออีกหน่อยถึงมะลิในอุตสาหกรรมน้ำหอม      
มะลิที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดในวงการน้ำหอมคือมะลิจากเมือง Grasse ทางใต้ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมน้ำหอมโลก มะลินี้ก็คือชนิด grandiflorum นั่นเอง กรรมวิธีการสกัดหัวน้ำมันมะลินั้นทั้งยากและซับซ้อน เริ่มตั้งแต่ต้องรีบเก็บดอกจำนวนมากให้เสร็จก่อนตะวันขึ้น เพราะแสงแดดจะทำให้กลีบอันบอบบางของมะลิสูญเสียกลิ่นหอมไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งต้องระวังไม่ให้มะลิช้ำเด็ดขาด เพราะจะทำให้กลิ่นเพี้ยน            
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานเทศกาลดอกมะลิ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวมะลิของเมือง Grasse ที่มาภาพ : www.frenchduck.co.uk
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานเทศกาลดอกมะลิ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวมะลิของเมือง Grasse ที่มาภาพ : http://www.frenchduck.co.uk
กระบวนการสกัดกลิ่นนั้นก็ไม่สามารถใช้ความร้อนหรือไอน้ำเป็นตัวแยกน้ำมัน หอมระเหยออกจากกลีบดอก เพราะดอกมะลิไม่สามารถทนความร้อนได้ จึงต้องใช้กรรมวิธีโบราณที่เรียกว่า enfleurage หรือการสกัดด้วยไขมันเย็น คือโรยกลีบมะลิลงบนแผ่นแก้วที่เคลือบด้วยไขมันสัตว์ อาทิ ไขมันหมู วัว หรือแกะ ที่ผ่านการทำความสะอาดขจัดกลิ่นเหม็นคาวเรียบร้อยแล้ว จากนั้นทิ้งไว้จนกลิ่นหอมของดอกมะลิละลายปนกับไขมัน มะลิที่ใช้นี้ยังต้องเปลี่ยนใหม่ทุกวัน จนกว่าไขมันจะเจือด้วยกลิ่นมะลิเข้มข้น จากนั้นนำไขมันที่ได้ไปสกัดแยกเอาหัวน้ำมันมะลิออกมา กว่าจะได้หัวน้ำมันหอม 1 กิโลกรัม ต้องใช้มะลิมหาศาลถึง 7 ล้านดอก ปัจจุบันกรรมวิธี enfleurage นี้ไม่ค่อยทำกันแล้ว แต่หันมาใช้วิธี solvent extraction หรือการสกัดด้วยตัวทำละลาย ซึ่งก็มีขั้นตอนซับซ้อนเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่ต้องใช้แรงงานคนมากเท่าการสกัดด้วยไขมันเย็น
เพราะความซับซ้อนในการผลิตและต้นทุนที่สูงนี้เอง ทำให้บริษัทน้ำหอมยักษ์ใหญ่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากอิตาลี อินเดีย อียิปต์ และโมร็อคโค ซึ่งเป็นผู้ส่งออกมะลิรายใหญ่ของโลก ปัจจุบันมีน้ำหอมไม่กี่กลิ่นที่ยังใช้มะลิฝรั่งเศสเป็นส่วนผสม ซึ่งก็แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือน้ำหอมอมตะนิรันดร์กาลอย่าง Chanel N.5 หรือกลิ่น Joy และ 1000 ของ Jean Patou (เฉพาะหัวน้ำหอมหรือ parfum extrait ที่ราคาแพงระยับเท่านั้น! ไม่นับเวอร์ชั่นที่เจือจางลงอย่าง eau de parfum หรือ eau de toilette) ส่วนบริษัทเก่าแก่ระดับตำนานอย่าง Guerlain ก็เคยใช้มะลิเมือง Grasse ในน้ำหอมอมตะหลายกลิ่น อาทิ Shalimar และ Mitsouko แต่ทราบมาว่าปัจจุบันทาง Guerlain ก็ได้ปรับปรุงสูตรน้ำหอมดังกล่าวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของวัตถุดิบ เช่นกัน น้ำหอม Shalimar และ Mitsouko ที่มีขายตามห้างสรรพสินค้าในปัจจุบันจึงไม่มีส่วนผสมของมะลิจากเมือง Grasse อีกต่อไป
กลิ่น Joy ของ Jean Patou ผลิตขึ้นตั้งแต่ปี 1929 โดยใช้มะลิถึง 10,600 ดอกและกุหลาบอีก 28 โหลต่อหัวน้ำหอม 1 ออนซ์ ถือเป็นน้ำหอมที่แพงที่สุดในโลก ก่อนที่จะมีน้ำหอมประเภท niche/exclusive ออกมามากมายในสมัยนี้ เล่ากันว่าเจ้าหญิงจากประเทศเศรษฐีน้ำมันในอาหรับเคยเหมาซื้อน้ำหอมนี้จาก ห้างหรูในยุโรป เพียงเพื่อนำไปทำน้ำพุในวังของเธอ ทำเอาคนเดินดินอย่างเราฟังแล้วแทบลมจับ
น่าเสียดายที่เมืองไทยเรามีดอกไม้ถิ่นร้อนซึ่งมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นอยู่จำนวนมาก ทั้งยังมีไม้หอม เครื่องเทศ และสมุนไพรนานาพันธุ์  แต่กลับไม่ค่อยมีผู้ใช้ข้อได้เปรียบนี้ให้เป็นประโยชน์เต็มที่นัก ผู้เขียนว่าแม้แต่ฝรั่งเศสที่ถือเป็นสุดยอดเรื่องผลิตน้ำหอมยังสู้เราไม่ได้ เรื่องวัตถุดิบ ศิลปะการปรุงน้ำหอมบ้านเราไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เพราะขาดผู้สนใจค้นคว้าทดลองปรุงกลิ่นหอมจากพันธุ์ไม้หายากของโลกตะวันออก เหล่านี้อย่างจริงจัง จึงน่าจะมีการส่งเสริมกันให้มากขึ้น เพราะถ้าทำได้ก็น่าจะสร้างรายได้ให้ประเทศไม่ใช่น้อย ไทยเรานั้นไม่เคยเป็นสองรองใครเรื่องฝีมือและรสนิยมทางศิลปะ เพียงแต่ขาดความคิดนอกกรอบ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสินค้าให้เปี่ยมด้วยทั้งคุณภาพและความคิดสร้างสรรค์ อันโดดเด่น โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับแบบแผนการปรุงน้ำหอมอย่าง ‘ไทยๆ’ ที่สืบทอดมาแต่โบราณเท่านั้น
กลับมาที่เรื่องมะลิ ตัวผู้เขียนเองนั้นก็ไม่ค่อยตื้นเต้นสักเท่าไหร่กับมะลิฝรั่งเศส แต่กลับชอบมะลิลา มะลิซ้อนบ้านเรานี่แหละ เพราะมีสรรพคุณ antidepressant คือให้กลิ่นหอมเย็นชื่นใจ คลายความตึงเครียดได้อย่างน่าประหลาด ส่วนจะมีผลกระตุ้นอารมณ์โรแมนติคหรือไม่อย่างไรนั้น ผู้เขียนยังไม่เคยลอง ใครรู้ช่วยบอกที……
น้ำหอมกลิ่นมะลิหรือที่ใช้มะลิเป็นส่วนผสม
mass market/counter brands : Pikake by Terra Nova, Jasmine by Demeter, Tendre Jasmin by Yves Rocher, Les Fleurs de Provence Jasmin by Molinard, Joy by Jean Patou, Murmure by Vancleef & Arpels, Jaipur และ Jaipur Saphir by Boucheron, Shalimar Light by Guerlain, Blush by Marc Jacobs, Le De และ Organza Jasmin 2007 by Givenchy (limited edition), Jasmin Fleur by Jill Stuart, Voile de Jasmin และ Jasmin Noir by Bulgari, Vera Wang by Vera Wang, Covet Pure Bloom by Sarah Jessica Parker, F by Ferragamo, Very Pretty by Michael Kors, Belle de Soleil by Fragonard
niche/exclusive brands :
Jasmal, Jasmin Imperatrice Eugenie และ Love in White by Creed, Jasmin de Nuit by The Different Company, Sampaguita by Ormonde Jayne, Le Jasmin by Annick Goutal, Jasmin และ Jardin Blanc by Maitre Parfumeur et Gantier, Jasmin Full by Montale, Jasmin Vert by I Profumi di Firenze, Jasmin by Bruno Acampora , A La Nuit และ Sarrasins by Serge Lutens, Jasmine & Honeysuckle และ White Jasmine & Mint by Jo  Malone, Jasmine White Moss by Estee Lauder Private Collection, Jasmine by Keiko Mecheri, Olene by Diptyque, La Chasse Aux Papillons และ La Haie Fluerie du Hameau by L’Artisan Parfumeur, Jasmine by Renee, Jasmin 17 by Le Labo, Child perfume oil by Child, Jasmin และ Jasmiralda by Guerlain, Gardenia by Chanel, L’Eau Nirique และ Voleur de Ciels by Stephanie de Saint-Aignan, Light Comes From Within by Creative Scentualization, Jazmin by Norma Kamali, Jasmine Musk by Tom Ford Private Blend, Ellie D by Ellie D, Moon Garden by Strange Invisible Perfumes, Vent de Jasmin by Il Profumo, Eclat de Jasmin by Armani Prive, Cradle of Light by CB I Hate Perfume, Tunisian Jasmine by Pacifica, Jasmine by Donna Karan Essences, 3 Fleurs by Parfum d’Empire, Ophelia by Heeley, Dis-Moi, Miroir by Thierry Mugler, Intoxication by Parfum d’Orsay, Pink Jasmine by Fresh, Le Jasmin by Chantecaille, Teint de Neige by Lorenzo Villoresi, Pikake Lei by Ava Luxe, Fleur Liquide by Memoire Liquide Reserve, Fleurs Blanches และ Night Queen by In Fiore, Just Un Reve by Parfums de Nicolai, Don’t Get Me Wrong Baby… by Etat Libre d’Orange, White Flowers 1.41 by Yosh
*ผู้ที่ต้องการนำบางส่วนของบทความไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์ชนิดต่างๆ กรุณาระบุที่มาของข้อมูลด้วย…ขอบคุณมากค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

B&C Perfumes Academy