น้ำหอมกับศิลปะและดนตรี โดย Sangkae's Blog
โน้ตตัวแรกของน้ำหอมเรียกว่า top note หมายถึงกลิ่นแรกที่จะกระทบกับประสาทรับกลิ่นของคนเราทันทีที่ฉีดน้ำหอมออก จากขวด top note นี้อาจมีกลิ่นแรงที่สุดในบรรดาโน้ตทุกตัวในน้ำหอม แต่จะมีระยะเวลาที่กลิ่นติดผิวกายสั้นที่สุดในบรรดาโน้ตทั้งหมด
กลิ่นที่ใช้เป็น top note มีอาทิ กลิ่นเขียวซาบซ่านของใบไม้หรือสมุนไพร อย่างมินต์ ยูคาลิปตัส เสจ หรือกลิ่นสังเคราะห์อื่นๆ เช่น Hexenol-cis-3 ซึ่งเป็นกลิ่นเขียวสดชื่นของหญ้าที่ตัดใหม่ๆ นอกจากนี้ยังรวมถึงกลิ่นผลไม้ตระกูลส้ม อาทิ ส้มแทนเจอรีน ส้มแมนดาริน เบอร์กาม็อต มะกรูด มะนาว เกรพฟรุ้ต หรือกลิ่นผลไม้หอมหวานอย่างเมลอน พีช แอปริค็อต สับปะรด ลิ้นจี่ กลิ่นเหล่านี้จะหอมแรงเตะจมูกทันทีที่น้ำหอมสัมผัสผิวกายเป็นครั้งแรก แต่จะระเหยจางไปภายในเวลาไม่กี่นาที เปิดทางให้โน้ตตัวต่อไปได้สัมผัสกับจมูกของเรา
โน้ตตัวที่สองนี้เรียกว่า middle note หรือโน้ตตัวกลางนั่นเอง โดยมากเป็นกลิ่นดอกไม้ ซึ่งถือเป็นหัวใจของน้ำหอมนั้น จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า heart note ด้วย middle note นี้จะสื่อถึง character หลักของน้ำหอมนั้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ปรุงต้องการให้น้ำหอมขวดนั้นสะท้อนถึงอะไร เช่นอาจเป็นน้ำหอมผู้หญิงสไตล์อ่อนหวานนุ่มนวล หรืออาจเป็นน้ำหอมผู้หญิงสไตล์เซ็กซี่ร้อนแรงก็ได้ ผู้ปรุงน้ำหอมจะเลือกส่วนผสมที่ประกอบขึ้นเป็น middle note ให้สามารถสื่อถึงลักษณะเด่นดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น กลิ่นดอกไม้น้ำอย่างบัวหรือดอกไม้ที่อ่อนโยนบอบบางอย่างลิลลี่ สะท้อนความเป็นสาวน้อยบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ส่วนกลิ่นดอกไม้เมืองร้อนอย่างมะลิ พุดซ้อน หรือซ่อนกลิ่น สามารถสื่อถึงความเย้ายวนและเสน่ห์ทางเพศของสตรีที่มีความเป็นผู้หญิงเต็ม ตัว
middle note นี้ยังอาจรวมถึงกลิ่นเครื่องเทศและสมุนไพรบางชนิดที่ใช้เสริมแต่งหรือลดทอน ความหอมหวานของกลิ่นดอกไม้ อาทิ ขิง อบเชย ยี่หร่า กระวาน เมอร์ (myrrh) ไธม์ (thyme) คาโมมายล์ (chamomile) โรสแมรี่ (rosemary) ฯลฯ ส่วนผสมใน middle note อาจจะมีความเข้มข้นของกลิ่นน้อยกว่าหรือพอๆ กับ top note แต่จะมีระยะเวลาที่ติดผิวกายนานกว่า
สุดท้ายคือ base note ซึ่งถือเป็นกลิ่นสุดท้ายที่หอมกรุ่นติดผิวกายนานที่สุด จมูกคนเราจะสามารถสัมผัสกลิ่น base note นี้ได้อย่างชัดเจนก็ต่อเมื่อ top และ middle note เริ่มระเหยจางไป base note นี้มักประกอบด้วยกลิ่นที่มีความเข้มข้นสูง แต่ใช้ในปริมาณน้อยมากเพื่อไม่ให้ฉุนแรงจนกลบกลิ่นอื่นไปเสียหมด ที่ใช้มากในการปรุงน้ำหอม มีอาทิ กลิ่นเขียวปนกลิ่นคล้ายเนื้อไม้ของรากแฝกหอม (vetivert), โอ๊คมอส (oakmoss) เป็นเห็ดราชนิดหนึ่งที่ขึ้นบนต้นโอ๊คหรือเปลือกต้นไม้ใหญ่ต่างๆ, พัตชุลี (patchouli) เป็นพืชชนิดหนึ่งในตระกูลมิ้นต์ ให้กลิ่นคล้ายเนื้อไม้ปนกลิ่นเครื่องเทศหรือสมุนไพร, กลิ่นเนื้อไม้หอมนานาชนิด อย่าง ไม้จันทน์ (sandalwood) ไม้กาอิค (guaic wood) ไม้ซีดาร์ (cedarwood) และไม้กฤษณา (agarwood) กลิ่นสัตว์ อย่าง กลิ่นจากต่อมสืบพันธุ์ของกวางชะมด (musk) กลิ่นแอมเบอร์กรีส์ (ambergris) ได้มาจากก้อนสีเทาที่ปลาวาฬ “sperm whale” ขับถ่ายออกมาจากร่างกาย กลิ่นซิเว็ต (civet) ได้จากต่อมขับถ่ายใต้หางของชะมดเช็ด ทว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำหอมหันไปใช้กลิ่นสังเคราะห์แทนเป็นส่วนมาก เพราะสัตว์เหล่านี้หายากและใกล้สูญพันธุ์
กลิ่น base note หรือกลิ่นฐานนี้มีคุณสมบัติสร้างความสมดุลกลมกลืนให้กับน้ำหอมในภาพรวมและ ช่วยให้ top note และ middle note ระเหยช้าลง กลิ่น base note นี้อาจหอมเย้ายวนติดผิวกายได้นานหลายชั่วโมง
ในภาษาน้ำหอมยังมีคำว่า “perfume accord” ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกับคอร์ด (chord) ในภาษาดนตรี คอร์ดในดนตรีนั้นประกอบขึ้นจากหลายตัวโน้ตแต่มีความประสานกลมกลืนกัน เช่นเดียวกับกลิ่นต่างๆ หลากหลายที่ผสมผสานกันเข้าจนกลายเป็นอีกกลิ่นที่มีลักษณะแตกต่างออกไปจาก ส่วนประกอบเดิม จนคนดมไม่สามารถแยกได้อีกต่อไปว่ากลิ่นนั้นประกอบด้วยส่วนผสมหรือโน้ตตัวใด บ้าง นี่แหละที่เรียกว่า accord ซึ่งถือเป็นหลักหรือหัวใจของน้ำหอมกลิ่นต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น น้ำหอมกลิ่นมะลิ ก็ต้องประกอบด้วย jasmine accord เป็นต้น นักปรุงน้ำหอมอาจเติมแต่งกลิ่นอื่นๆ ลงไปบ้างเพื่อเสริมหรือลดทอนความเข้มข้น แต่จะต้องคงลักษณะเด่นของ accord นี้ไว้ตลอดระยะเวลาที่น้ำหอมนั้นติดผิวกาย
ศิลปะการปรุงน้ำหอมนั้นถือว่ามีความละเอียดซับซ้อนมาก เพราะผู้ปรุงต้องรู้จักส่วนผสมแต่ละตัวเป็นอย่างดี ว่ามีความเข้มข้นของกลิ่นในระดับใดและมีระยะเวลาที่ติดผิวกายนานเท่าใดก่อน จะระเหยไป จึงจะสามารถจัดลำดับได้อย่างถูกต้องว่ากลิ่นใดควรอยู่ใน top, middle หรือ base note อีกทั้งต้องคำนวณได้อย่างชัดเจนว่าจะใช้ส่วนผสมแต่ละชนิดในปริมาณเท่าใด จึงจะผสานกลมกลืนกันออกมาเป็นภาพรวมของกลิ่นน้ำหอมที่ต้องการ
น้ำหอมแต่ละขวดจึงเป็นผลรวมของส่วนผสมทั้งจากธรรมชาติและที่สังเคราะห์ ขึ้นซึ่งอาจสูงถึงหลายร้อยชนิด ทั้งต้องมีความสมดุลกลมกล่อมของส่วนผสมต่างๆ ที่อาจมีทั้งเสริมกันหรือขัดแย้งกัน เช่นเดียวกับการประพันธ์เพลงให้มีความประสานกลมกลืนและความขัดแย้งระหว่าง ตัวโน้ตต่างๆ จึงจะได้เพลงที่ไพเราะ น้ำหอมจะมีคุณภาพมากเท่าใด ก็ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของ “nose” หรือนักปรุงน้ำหอม ซึ่งอาจใช้เวลาบ่มเพาะไอเดียและทดลองผสมกลิ่นต่างๆ อยู่นานหลายปีกว่าจะได้ผลงานอันเป็นที่น่าพอใจ
นักปรุงน้ำหอมเหล่านี้ส่วนมากจึงผ่านการฝึกฝนอย่างหนักในบริษัทน้ำหอม ชั้นนำของโลกหรือที่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมน้ำหอมโลกอย่างเมือง Grasse ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลานับ 10 ปีขึ้นไป กระทั่งสามารถจดจำกลิ่นต่างๆ ได้หลายพันกลิ่น รวมทั้งสามารถระบุคุณสมบัติของกลิ่นเหล่านั้นได้อย่างแม่นยำ พูดง่ายๆ ว่าต้องจมูกไวจนแทบจะบอกรายชื่อส่วนผสมได้ทันทีที่น้ำหอมกลิ่นหนึ่งกระทบ จมูก แน่นอนว่านักปรุงน้ำหอมเหล่านี้มีค่าตัวแพงมหาศาล และมักใช้เวลาเดินทางท่องไปทั่วโลกเพื่อสรรหาส่วนผสมแปลกใหม่มาใช้ในน้ำหอม ของตน ถือเป็นอาชีพที่น่าสนใจอีกอาชีพหนึ่ง ทว่าต้องอาศัยพรสวรรค์และความมานะพากเพียรอย่างสูง
หลักการปรุงน้ำหอมยังมีความคล้ายคลึงกับหลักการทางจิตรกรรม อันเกี่ยวข้องกับความเข้มข้นของระดับสีต่างๆ ซึ่งจิตรกรอาจเลือกใช้เพื่อสร้างสรรค์ภาพวาดหนึ่งๆ ส่วนผสมต่างๆ ที่ใช้ในการปรุงน้ำหอมก็เปรียบได้กับสีสันต่างๆ ที่ไล่เรียงตั้งแต่โทนสีอ่อนไปจนถึงโทนสีเข้มที่สุด กลิ่นดอกไม้หลากหลายชนิดก็เหมือนกับนานาสีพาสเทลอันอ่อนหวาน กลิ่นใบไม้และสมุนไพรเปรียบได้กับสีเขียวหลากหลายโทน ตั้งแต่ เขียวอ่อน เขียวอมเหลือง เขียวอมน้ำตาล ไปจนถึงเขียวเข้ม กลิ่นเครื่องเทศนานาชนิดเทียบได้กับสีโทนร้อน ตั้งแต่สีเหลือง ส้ม แดง ไปจนถึงน้ำตาล กลิ่นเนื้อไม้หอมทั้งหลายเปรียบได้กับสีน้ำตาลที่ไล่เฉดตั้งแต่อ่อนถึงเข้ม นักปรุงน้ำหอมอาจเลือกใช้กลิ่นเหล่านี้มาสร้างสรรค์เป็นน้ำหอมแต่ละขวด เช่นเดียวกับจิตรกรเลือกสีสันที่ใช้ระบายภาพวาดเพื่อสื่อถึงจินตนาการของตน การเปรียบเทียบกลิ่นกับสีสันในจานสีของจิตรกร เป็นที่มาของคำว่า “perfumer’s palette” ซึ่งหมายถึงจานสีของนักปรุงน้ำหอมนั่นเอง
เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ผู้อ่านหลายๆ ท่านคงเริ่มอยาก ‘ทำความรู้จัก’ กับกลิ่นหอมต่างๆ ให้มากขึ้น เพราะน้ำหอมนั้นไม่ใช่แค่ของเหลวที่บรรจุขวดไว้สำหรับประพรมเพื่อเสริมสร้าง เสน่ห์ให้กับตัวเองเท่านั้น แต่อาจเทียบได้กับงานศิลปะชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว งานศิลปะชิ้นนั้นจะได้รับคำวิจารณ์ในทางใดก็เป็นเรื่องที่ subjective คือเป็นความคิดเห็นส่วนตนของแต่ละคน ทว่าทุกคนสามารถฝึกจมูกให้สามารถรับรู้และจดจำกลิ่นต่างๆ อันหลากหลายในธรรมชาติและสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา แล้วลองนำมาเปรียบเทียบกับเครื่องหอมกลิ่นต่างๆ ที่มีอยู่ ซึ่งในโฆษณามักระบุรายชื่อส่วนผสมเอาไว้
ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ผลิตบอกว่าน้ำหอมกลิ่นนั้นมีส่วนผสมของมะลิและกุหลาบ เราก็สามารถนำไปเทียบเคียงกับกลิ่นดอกมะลิหรือกุหลาบแท้ๆ ที่เคยสัมผัสมาก่อน ก็จะสามารถวิจารณ์ได้ว่าน้ำหอมนั้นมีความใกล้เคียงกับธรรมชาติหรือว่ามี กลิ่นสารสังเคราะห์อย่างชัดเจน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนตัวของแต่ละบุคคลอีกว่าชอบกลิ่นลักษณะใด จึงไม่มีการตัดสินถูก-ผิด นัก ‘ดม’ ที่จมูกผ่านการฝึกฝนมามาก อาจถึงขั้นแยกได้ว่าน้ำหอมแต่ละกลิ่นประกอบด้วยส่วนผสมใดบ้างและในปริมาณ เท่าใด โดยไม่ต้องอาศัยข้อมูลจากคนขายหรือโฆษณาในนิตยสาร เหมือนคนชิมอาหารสามารถบอกได้ว่าอาหารนั้นรสชาติอร่อยกลมกล่อมดีแล้วหรือยัง อ่อนเปรี้ยว อ่อนเค็มอย่างไร สุดท้ายนี้ก็ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสุขในการดม….Happy sniffing!
*ผู้ที่ต้องการนำบางส่วนของบทความไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์ชนิดใดก็ตาม กรุณาระบุที่มาของข้อมูลด้วย…ขอบคุณมากค่ะ
ป้ายกำกับ:
น้ำหอม,
น้ำหอมแท้,
น้ำหอมห้าง,
perfumes
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น