ว่ากันว่าคนสมัยนี้รู้จักวานิลลามากที่สุดจากไอศกรีม
เพราะไอศกรีมรสวานิลลานี้เป็นรสมาตรฐานซึ่งทุกร้านต้องมีไว้
ใครที่ขี้เกียจคิดว่าจะสั่งไอศกรีมรสไหนดีเพราะมีให้เลือกมากจนละลานตา
นึกอะไรไม่ออก ก็มักสั่งรสวานิลลาเพราะง่ายที่สุด
ซึ่งก็ดูเหมือนจะไปสอดคล้องกับคำแสลง “vanilla”
ซึ่งหมายถึงอะไรก็ตามที่เรียบง่าย พื้นๆ หรือพบเห็นได้ทั่วไป
กระทั่งกลายเป็นของน่าเบื่อหรือไม่น่าตื่นเต้นอีกต่อไป
อย่างเช่นรถรุ่นเบสิคที่นิยมใช้กันมากๆ ชนิดที่ใครๆ ก็มีกัน ก็เรียกว่า
“vanilla version”
หรือจะใช้เรียกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็สื่อความหมายอย่างเดียวกัน
กลิ่นวานิลลานี้มีลักษณะหวานชวนน้ำลายสอ
จึงใช้เป็นส่วนผสมในขนมหวานชนิดต่างๆ อย่าง ช็อคโกแลต คัสตาร์ด คาราเมล
และใช้ในขนมอบหรือเบเกอรี่ต่างๆ เช่น เค้ก คุกกี้ พาย ทาร์ต ขนมปัง
คนทั่วไปจึงมักเชื่อมโยงกลิ่นวานิลลาเข้ากับความทรงจำที่สวยงามในวัยเด็ก
เพราะเด็กๆ ทุกคนล้วนชื่นชอบขนมหวานต่างๆ อยู่แล้ว
อุตสาหกรรมน้ำหอมในปัจจุบันจึงนิยมสร้างสรรค์กลิ่นแนว gourmand
ซึ่งประกอบด้วยกลิ่นขนม ผลไม้และเครื่องเทศที่หอมน่ารับประทาน
ไว้ดึงดูดลูกค้าที่นิยมกลิ่นน่ารักมีเสน่ห์ยั่วเย้า
ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องมีวานิลลามาช่วยเติมความหวานให้กับน้ำหอมเหล่านี้
แทบทุกแบรนด์ล้วนมีน้ำหอมกลิ่นวานิลลาวางขายแข่งขันกัน
จึงต้องปรุงกลิ่นให้มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป
นั่นคือบางกลิ่นก็จัดอยู่ในประเภท gourmand อย่างชัดเจน
ขณะที่อีกหลายกลิ่นเป็น “วานิลลาสำหรับผู้ใหญ่”
คือไม่เน้นที่ความหวานน่ากิน
แต่เป็นวานิลลาที่นำมาผสานกับกลิ่นดอกไม้ที่เย้ายวน,
กลิ่นยาสูบกรุ่นควันและหนัง (leather accord) ที่ลุ่มลึก,
กลิ่นเครื่องเทศเผ็ดร้อนจัดจ้าน
หรือกลิ่นเนื้อไม้ที่ให้ความหนักแน่นเข้มแข็ง
การที่กลิ่นวานิลลามีความหวานอบอุ่นและเมื่อประพรมลงบนผิวหนังแล้วจะผสาน
เข้ากับกลิ่นกายธรรมชาติของแต่ละคน กลายเป็น skin scent ที่นุ่มนวล
ทำให้วานิลลาถูกนำมาใช้ในการตรึงส่วนประกอบหลากหลายของน้ำหอมขวดหนึ่งๆ
เข้าด้วยกัน เพราะในน้ำหอมขวดเดียวอาจประกอบด้วยกลิ่นต่างๆ หลายโทน
ตั้งแต่โทนสดชื่นชุ่มฉ่ำของผลไม้หรือไม้ตระกูลส้มต่างๆ
โทนหวานเย้ายวนของดอกไม้นานาพันธุ์ โทนเขียวซาบซ่านของสมุนไพรหลายชนิด
โทนอบอุ่นเผ็ดร้อนของเครื่องเทศ โทนหนักแน่นแข็งแกร่งของเนื้อไม้
ความหวานของวานิลลาจะทำให้โทนต่างๆ เหล่านี้ประสานกลมกลืนเข้าด้วยกัน
และช่วยสร้าง special effect คือความ ‘ชวนฝัน’ ให้กับน้ำหอมนั้นๆ
ผู้เขียนว่าจะเปรียบไปก็เหมือนน้ำตาลที่เราใช้ประกอบอาหาร
อาหารไทยเราที่เป็นอาหารคาว เช่น ผัด แกง หรือแม้แต่ยำที่มีรสชาติจัดจ้าน
ทุกจานนั้นลำพังไม่ได้มีแค่รสเค็มหรือเปรี้ยวอย่างเดียว
แต่ต้องเหยาะน้ำตาลลงไปเล็กน้อยด้วย เพื่อให้มีรสกลมกล่อม
นั่นคือใช้ความหวานของน้ำตาลมาลบมุมที่แข็งหรือจัดจ้านของส่วนผสมอื่นๆ
ลองมาดูกลิ่นวานิลลาแนว gourmand
ซึ่งมักจะเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าวัยเยาว์หรือผู้ใหญ่ประเภท young-at-heart
แบรนด์น้ำหอมที่เชี่ยวชาญในการทำกลิ่นวานิลลาประเภทนี้และมีราคาไม่แพงเกิน
ไปนัก ก็มีอาทิ Comptoir Sud Pacifique ของฝรั่งเศส
ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเกาะสวาทหาดสวรรค์อย่างตาฮิติ
จึงมีจุดขายที่กลิ่นวานิลลาอันเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของเกาะนี้
ทว่าเติมแต่งกลิ่นหอมของเครื่องเทศหรือผลไม้หลากชนิดลงไปด้วย
มีให้เลือกหลายกลิ่นเช่น Vanille Coco (Vanilla Coconut), Vanille Abricot
(Vanilla Apricot), Vanille Banane (Vanilla Banana), Vanille Amande
(Vanilla Almond), Vanille Mokha (Vanilla Mocca), Vanille Cannelle
(Vanilla Cinnamon), Vanille Peach, Vanille Pineapple และ Vanille
Pitahaya (Pitahaya คือผลไม้ที่บ้านเราเรียกว่าแก้วมังกร)
ล้วนแต่หอมหวานน่ากินจนแทบไม่น่าเชื่อว่าจริงๆ
แล้วเป็นน้ำหอมที่ใช้ประพรมร่างกาย
น้ำหอม La Maison de la Vanille ของฝรั่งเศส
ก็ผลิตเฉพาะกลิ่นวานิลลาเพียงอย่างเดียว
แต่มีให้เลือกหลากหลายแบบโดยตั้งชื่อตามแหล่งกำเนิดของวานิลลาชนิดต่างๆ
เช่น Vanille Noir du Méxique, Vanille Sauvage de Madagascar, Vanille
Fleurie de Tahiti, Vanille Givrée des Antilles และ Vanille Divine des
Tropiques ในจำนวนนี้มีบางกลิ่นซึ่งจัดอยู่ในประเภท gourmand
ฟังชื่อน้ำหอมแล้วทำให้ได้ความรู้สึกพิเศษเหมือนของขวัญที่ส่งตรงจากแดนไกล
ผู้เขียนได้ลองแล้วก็ต้องยอมรับว่าเป็นกลิ่นที่มีคุณภาพดีพอควรและที่สำคัญ
คือเข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้อง ‘ปีนบันได’ ดม
เพราะให้ความหวานนุ่มนวลที่คงจะเป็นที่ชื่นชอบของคนส่วนมาก
อีกแบรนด์ที่ชื่อประหลาดแต่น่ารักดี ก็คือ Crazylibellule and The
Poppies ซึ่งออกคอลเลคชั่น Poule de Luxe โดยมีธีมหลักคือกลิ่นวานิลลาแนว
gourmand ที่หวานจนแทบเสียวฟัน ประกอบด้วย Vanilla Moka
ซึ่งมีส่วนผสมของช็อคโกแล็ต เมล็ดโกโก้ ไม้จันทน์ มอคค่า กาแฟ และมัสค์
Vanille Pralines ประกอบด้วยกลิ่นคาราเมล เฮเซลนัท พีแคนพาย
(ขนมพายทำจากถั่วพีแคน เติมความหอมด้วยวานิลลา ช็อคโกแล็ต
และเบอร์เบิ้นวิสกี้) และมัสค์ Vanille Sucré Glace มีกลิ่นเบอร์กาม็อต ส้ม
มะลิ ดอกส้ม มัสค์ วานิลลา และคาราเมล Vanilla Pom d’Amour
มีส่วนผสมของส้ม เหล้ารัม hawthorn (Crataegus monogyna
ใบและดอกใช้เป็นยาสมุนไพร ผลใช้ทำเยลลี่ แยมและไซรัป) ลูกพีช ผลไม้สีแดง
ชะเอม มัสค์ และวานิลลา Vanilla Fruit Sorbet ประกอบด้วยกลิ่นราสพ์เบอร์รี
กุหลาบ ไอริส วานิลลา และมัสค์ Vanilla Lemon Pie มีกลิ่นส้ม ดอกมะนาว
อัลมอนด์ ทานตะวันสีม่วง (heliotrope) และวานิลลา สุดท้ายคือ Vanilla
Macarons มีส่วนผสมของอัลมอนด์ เหล้า Amaretto (เหล้าสไตล์อิตาเลียน
มีกลิ่นรสของแอพปริค็อตและอัลมอนด์) ไม้ซีดาร์ ไม้จันทน์ วานิลลา มัสค์
และแอมเบอร์
ส่วนน้ำหอมกระแสหลักที่เป็นกลิ่นวานิลลาแนว gourmand
ซึ่งโดดเด่นเป็นขวัญใจนักวิจารณ์ก็คือ Hypnotic Poison ของ Christian Dior
ให้กลิ่นเย้ายวนราวกับมนตร์สะกดสมชื่อ
ลองแล้วก็เห็นด้วยกับคำวิจารณ์เชิงบวก
เพราะเป็นกลิ่นที่ซับซ้อนและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ต่างจากน้ำหอมอื่นในแนวเดียวกัน แถมทำให้เกิดอาการเหมือนคนติดยา
คืออยากดมแล้วดมอีกเพราะมีเสน่ห์ประหลาด
น้ำหอมขวดนี้ประกอบด้วยกลิ่นอัลมอนด์ ยี่หร่าเปอร์เซีย มะลิ มอสส์ ไม้
Jacaranda และวานิลลามัสค์
ให้กลิ่นซาบซ่านของเครื่องเทศเจือกลิ่นหวานของวานิลลาและกลิ่นอบอุ่นของ
อัลมอนด์ราดครีม จำได้ว่าได้ลองน้ำหอมขวดนี้ครั้งแรกเมื่อคราวไปดูภาพยนตร์
Practical Magic ในห้างดังแห่งหนึ่ง กลิ่นนี้ทำให้นึกถึงตัวละครของ Nicole
Kidman ที่เป็นแม่มดสาวเจ้าเสน่ห์แฝงความร้อนแรงอันตราย
พูดถึงความร้อนแรงอันตรายแล้วก็นึกถึงน้ำหอมบางกลิ่นที่ผู้เขียนอยากจะ
เรียกว่า grown-up gourmand คือเป็น gourmand
ที่ไม่ได้เคลือบน้ำตาลหวานหยดหรือปลอดภัยไร้พิษสงแบบหลายๆ
กลิ่นที่เล่าไว้ข้างบน แต่เป็นกลิ่นของกินที่ทำออกมาสำหรับผู้ใหญ่จึงแฝง
‘ด้านมืด’ เอาไว้ อย่างเช่น Note Vanillée Art Collection ของ M. Micallef
ที่เปิดด้วยกลิ่นชุ่มฉ่ำของผลไม้ตระกูลส้ม
ก่อนเข้าสู่หัวใจของน้ำหอมซึ่งเป็นกลิ่นเย้ายวนของมะลิเจือกลิ่นน้ำผึ้ง
จากนั้นจึงจางลงสู่กลิ่นเข้มลึกของไม้จันทน์ แอมเบอร์ วานิลลาชนิด Bourbon
ยาสูบกรุ่นควัน เหล้ารัมและคอนยัค
น้ำหอม Coze ของ Parfumerie Générale
ก็เล่นกับอารมณ์ด้านมืดเช่นเดียวกัน
เปิดตัวด้วยกลิ่นร้อนแรงของเมล็ดกัญชาจากอินเดีย พริกไทย pimento
(เครื่องเทศชนิดหนึ่ง) กาแฟ ก่อนจะจางลงสู่กลิ่นรุ่มรวยของไม้มะเกลือ
ช็อคโกแล็ต และวานิลลา Bourbon ชวนให้นึกถึงเฉดสีดำเข้มขลับ
น้ำหอมขวดนี้ตั้งใจทำออกมาเป็นน้ำหอมชาย
แต่ก็สามารถประพรมได้ทั้งชายและหญิง
ส่วน Havana Vanille จาก L’Artisan Parfumeur
เป็นกลิ่นฝักวานิลลาแช่ในเหล้ารัมเก่าเก็บ เจือกลิ่นกานพลู หนัง
และผลไม้แห้ง ก่อนเปิดทางสู่กลิ่นใบยาสูบที่เก็บใหม่ๆ
ซึ่งประกอบขึ้นจากกลิ่นอ่อนของดอก immortelle กับ narcissus และ tonka bean
(พืชในตระกูลถั่ว เมล็ดเป็นสีดำ
ให้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นคล้ายวานิลลาและอัลมอนด์)
เจือกลิ่นชื้นของดินเล็กน้อย base note หรือกลิ่นฐานประกอบด้วย benzoin
(ยางจากเปลือกไม้สกุล Styrax กลิ่นคล้ายวานิลลา ที่ปลูกในไทยคือสายพันธุ์
Styrax tonkinensis และ Styrax benzoides คนไทยเรียกกำยาน) tolu balsam
(ยางจากต้น Myroxylon balsamum
ให้กลิ่นอบอุ่นแบบเครื่องเทศ) และมัสค์
ส่วนผสมเหล่านี้ทำให้นึกถึงผลไม้แห้งเคี่ยวกับเครื่องเทศและกล่องเก็บซิการ์
คิวบาที่กรุ่นกลิ่นหนังเล็กน้อย
Un
Bois Vanille ของ Serge Lutens เป็นกลิ่นไม้กรุ่นควันที่เข้มแรง
โอบล้อมด้วยความเข้มข้นของวานิลลา ซึ่งถูกเติมแต่งด้วยกลิ่นชะเอม กะทิ
ขี้ผึ้ง benzoin อัลมอนด์ และ tonka bean
ทำให้นึกถึงน้ำตาลไหม้หรือคาราเมลบนเนื้อไม้ที่กำลังถูกเปลวไฟลามเลีย
เห็นลิสต์ส่วนผสมแล้วอย่าคิดว่าน้ำหอมขวดนี้เป็นกลิ่นหวานแบบขนมที่เด็กๆ
ชอบ เพราะให้อารมณ์ลึกลับซับซ้อนแบบผู้ใหญ่
เหล่านี้เป็นตัวอย่างของวานิลลาแบบ gourmand
ที่ไม่เล่นกับความหวานหยดย้อยแบบผู้หญิง แต่ออกแนว masculine มากกว่า
นอกจากนี้ก็ยังมีน้ำหอมที่มีวานิลลาเป็นตัวชูโรงอีกหลายกลิ่นซึ่งไม่ได้จัดอยู่ในพวก gourmand
คือไม่ใช่กลิ่นของกิน ในน้ำหอมประเภทนี้
วานิลลาอาจถูกนำไปจับคู่กับอะไรได้หลายอย่าง
ตั้งแต่วานิลลาผสานเครื่องเทศร้อนแรงแบบตะวันออก วานิลลากับดอกไม้ถิ่นร้อน
(tropical flowers) สุดเย้ายวน หรือวานิลลากับกลิ่นยาง
แผ่นหนังและเนื้อไม้ที่เข้มขรึมลุ่มลึก เปรียบได้กับสีสันที่มีหลากหลายเฉด
น้ำหอม Shalimar
ของ Guerlain ได้แรงบันดาลใจจากความรักอมตะของจักรพรรดิชาห์ เจฮัน
และพระนางมุมทัช มาฮาล
อันเป็นที่มาของทัชมาฮาลซึ่งพระจักรพรรดิได้สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่
พระชายา น้ำหอมกลิ่นนี้ตั้งชื่อตามสวน Shalimar ในเมืองละฮอร์ ปากีสถาน
ซึ่งเป็นสถานที่โปรดปรานของพระนาง
และกลายเป็นน้ำหอมโด่งดังจนขึ้นชั้นกลิ่นคลาสสิคของโลก
เป็นกลิ่นเอกลักษณ์ที่เปรียบเสมือนลายเซ็นของบริษัทเก่าแก่อย่าง Guerlain
นั่นคือการใช้ความเย้ายวนของวานิลลาตัดกับความซาบซ่านของเบอร์กาม็อต
น้ำหอมขวดนี้เปิดตัวด้วยกลิ่นเย็นชื่นของมะนาว และเบอร์กาม็อต
ก่อนเข้าสู่หัวใจของน้ำหอมซึ่งเป็นกลิ่นดอกไม้เข้มข้นอย่างมะลิและกุหลาบ
ไปสู่เฉดร้อนของกลิ่นเครื่องเทศอันรุ่มรวย อย่าง opopanax tonka bean
วานิลลา ไอริส กำยาน (incense) และปิดท้ายด้วยแอมเบอร์
เป็นการตัดกันระหว่างขั้วเย็น-ร้อนได้อย่างลงตัว
โดยคงเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือความลึกลับน่าค้นหาในสไตล์ Guerlain
ไว้ได้ตั้งแต่ top note จนถึง base note
อีกกลิ่นที่น่าสนใจคือ Dior
Addict ซึ่งไม่เล่นกับความลึกลับมืดดำแบบ Shalimar
แต่เน้นความเย้ายวนแบบผู้หญิงอย่างเต็มที่ กลิ่นเปิดมาด้วยใบส้มแมนดาริน
สู่ความเข้มข้นของดอกไม้จากแดนไกลอย่างดอก silk tree ดอกส้ม มะลิ กระดังงา
กุหลาบ และ “Queen of the Night” (ดอกไม้ที่เรียกอีกอย่างว่า night-blooming cereus ไม่ใช่ดอกราตรีที่คนไทยรู้จัก ซึ่งมีชื่ออังกฤษว่า queen
of the night เหมือนกัน)
ความหวานของดอกไม้ช่อใหญ่ช่อนี้คลอคู่ไปกับความอบอุ่นของเครื่องเทศอย่าง
โหระพาและอบเชย ปิดท้ายด้วยวานิลลา Bourbon
ไม้จันทน์จากเมืองไมซอร์ของอินเดียและ tonka bean ทำให้น้ำหอมแนว
floriental กลิ่นนี้มีเสน่ห์ร้อนแรงแบบ exotic
อีกกลิ่นที่ดูจะเป็นคนละเรื่องกับ Addict
ก็คือ Eau Duelle ของ Diptyque แบรนด์ประเภท niche จากฝรั่งเศส
น้ำหอมกลิ่นนี้ไม่มีส่วนผสมของดอกไม้อยู่เลย
แต่ขึ้นต้นด้วยกลิ่นซาบซ่านของเครื่องเทศอย่างกระวาน pink peppercorn
(เครื่องเทศชนิดหนึ่ง ได้จากผลแห้งของไม้สกุล Schinus) หญ้าฝรั่น ผสานกลิ่นเขียวแบบ aromatic
ของจูนิเปอร์ สนไซเปรส และกลิ่นยางต้น elemi
(ไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในฟิลิปปินส์
น้ำมันหอมระเหยให้กลิ่นคล้ายไม้สนและมะนาว) รวมทั้งกลิ่นชาดำจากซีลอน
ศรีลังกา และ calamus (สมุนไพรชนิดหนึ่งเรียกว่า “ว่านน้ำ”
ใบและเหง้ามีกลิ่นหอม สันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดในอินเดีย) ตบท้ายด้วยกลิ่น
olibanum จากแอฟริกา (ยางหอมจากไม้สกุล Boswellia - ไทยเรียกกำยานด้วย) แอมเบอร์และวานิลลา 2 ชนิด คือ วานิลลา Firnat
ซึ่งให้กลิ่นละมุนคล้ายแป้ง และวานิลลา Bourbon
ซึ่งเข้มข้นกว่าและกรุ่นกลิ่นควันเล็กน้อย รวมทั้ง white musk
กลิ่นสุดท้ายที่ติดผิวกายนั้นให้อารมณ์โปร่งเบาและสะอาด สมกับคอนเซ็ปต์
unisex คือใช้ได้ทั้งหญิงและชาย
อีกตัวอย่างของวานิลลาซึ่งถูกนำไปผสานกับขั้วที่แข็งแกร่งแบบผู้ชาย คือ
น้ำหอม Black จากแบรนด์จิวเวลรีชื่อดังระดับโลกอย่าง Bvlgari
ในขวดแก้วใสหุ้มยางสีดำสนิทที่ดูล้ำสมัย
น้ำหอมเปิดตัวมาด้วยกลิ่นเย็นชื่นของเบอร์กาม็อต
ก่อนเข้าสู่หัวใจซึ่งเป็นกลิ่นชาดำ Lapsang Souchong
ที่คลอคู่ไปกับกลิ่นฐาน (base note) ซึ่งเป็นกลิ่นเรียบละมุนของวานิลลา
แอมเบอร์ มัสค์ ไม้จันทน์และไม้ซีดาร์
ที่น่าสนใจคือน้ำหอมนี้เจือปนด้วยกลิ่นยางรถยนต์ไหม้และกลิ่นเข้มขรึมของ
แผ่นหนัง ซึ่งทำให้นักวิจารณ์เรียกว่าเป็นหนึ่งใน “masterpieces of weird”
น้ำหอมกลิ่นแปลกขวดนี้ถูกออกแบบมาให้เป็น unisex
แต่ผู้ชายบางคนก็บอกว่ากลิ่นเป็น ‘ชาย’ มากเกินไปสำหรับผู้หญิง
ขณะที่ผู้หญิงบางคนบอกว่าน้ำหอมนี้เจือด้วยวานิลลาและกลิ่นแป้งซึ่งอาจจะ
หวานเกินไปสำหรับผู้ชาย ทำไปทำมาก็เลยสมกับคอนเซ็ปต์ unisex จริงๆ
คือต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าน้ำหอมนี้เหมาะกับเพศตัวเอง
สรุปว่าใช้ได้ทุกเพศว่างั้นเถอะ
จะเห็นว่าในโลกของน้ำหอมนั้น กลิ่นวานิลลาไม่ได้มีคุณลักษณะแบบ
“วานิลลา” คือเรียบง่ายและน่าเบื่อสมชื่อ
แต่สามารถเป็นอะไรได้ทุกอย่างตั้งแต่เด็กน้อยน่ารัก
สาวน้อยผู้อ่อนหวานเรียบร้อย สาวร้อนแรงอันตราย สาวสวยสุดเซ็กซี่
สาวใหญ่ผู้ลึกลับซับซ้อน หนุ่มสาวสมัยใหม่สไตล์ androgyny
หรือชายชาตรีผู้แข็งแกร่ง
การเสาะแสวงหาน้ำหอมกลิ่นวานิลลาจึงเป็นเหมือนการเดินทางผจญภัยที่น่า
ตื่นเต้น
ซึ่งจะได้พบทั้งด้านสว่างสดใสและด้านมืดของสิ่งธรรมดาที่ไม่ธรรมดาอย่าง
วานิลลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น