ขอขอบพระคุณเครดิตจาก Sangkae'sBlog
ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมว่า เวลาได้กลิ่นอะไรสักอย่าง
คนเราจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกลิ่นนั้นอย่างฉับพลันทันที
ไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบ แตกต่างออกไปตาม ‘จมูก’ หรือรสนิยมของแต่ละคน
กลิ่นเดียวกันอาจทำให้สมองของคนหนึ่งหลั่งสารเอนโดรฟีน
ที่ทำให้อารมณ์แจ่มใสเบิกบาน คลายความเครียดลงได้ทันตา
หรืออาจทำให้อีกคนคลื่นไส้จนทนไม่ได้ ทั้งที่คนอื่นว่าหอม
แทนที่จะทำให้คลายเครียด กลับยิ่งเครียดหนักเข้าไปอีกหลายเท่า
ผู้เขียนเคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้เมื่อประพรมน้ำหอมกลิ่นโปรดไปในที่
สาธารณะซึ่งบังเอิญมีคุณผู้ชายอยู่หลายคน ไม่ทันไรก็จะมีคนทำจมูกฟุดฟิด
เริ่มจาม หรือหันมามองเราด้วยสายตาแปลกๆ
ทั้งที่เราก็มั่นใจว่าไม่ได้ใส่น้ำหอมในปริมาณมากแต่อย่างใดเลย
เพราะตั้งใจจะให้ตัวเองได้กลิ่นอยู่คนเดียว
แต่หลายครั้งก็เกิดปฏิกิริยาทำนองเดียวกัน ผู้เขียนเลยสรุปเอาเองว่า
คุณผู้ชายส่วนใหญ่นั้นไวต่อกลิ่นที่แปลกปลอมแม้เพียงนิดเดียว
โดยเฉพาะกลิ่นดอกไม้นั้นจะมีปฏิกิริยามากเป็นพิเศษ
สันนิษฐานว่าความไม่คุ้นชินทำให้รู้สึกว่ากลิ่นฉุนหรือหวานเอียนเกินไป
ผู้เขียนจึงเลิกใส่น้ำหอมไปในที่สาธารณะ
แต่จะใส่เวลาอยู่บ้านหรือก่อนเข้านอน จะได้มีเวลา enjoy
กับกลิ่นได้เต็มที่อย่างไม่ต้องเกรงใจใคร
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะโมเลกุลของกลิ่นที่ผ่านเข้าจมูกไปนั้น
จะถูกส่งตรงไปยังสมองส่วน limbic
ซึ่งควบคุมอารมณ์ความรู้สึกและความทรงจำต่างๆ โดยทันที
ปกติแล้วมนุษย์เราจะใช้ประสาทสัมผัสด้านการมองเห็นและการได้ยินเพื่อซึมซับ
ข้อมูลจากสภาพแวดล้อมมากที่สุด
ทว่าฆานประสาทหรือประสาทรับกลิ่นนั้นถือว่าเป็นประสาทสัมผัสที่มีความสลับ
ซับซ้อน
มีอานุภาพในการกระตุ้นเตือนความทรงจำในอดีตและมีผลต่อสภาพจิตใจคนเรามากที่
สุด
ผู้เขียนจำได้ว่า กลิ่นน้ำหอมของคุณย่า คุณป้า
ที่ผู้เขียนได้ใกล้ชิดในวัยเยาว์ ทำให้เกิดความอบอุ่นสบายใจอย่างบอกไม่ถูก
แม้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และได้กลิ่นนั้นจากที่อื่น
ก็มักจะหวนนึกถึงภาพความทรงจำสวยงามในวัยเด็กอยู่ร่ำไป
ขณะที่บางกลิ่นกลับกระตุ้นให้ระลึกถึงช่วงเวลาไม่ดี เช่น กลิ่นยาบางชนิด
กลิ่นโรงพยาบาล กลิ่นอับของห้องในบ้านหลังเก่า
หรือกระทั่งกลิ่นน้ำหอมที่เคยใช้ในช่วงเวลาสับสนหรือทุกข์ใจ
เมื่อได้กลิ่นเหล่านี้เข้าอีกครั้ง ภาพความทรงจำเก่าๆ
ดูจะหวนกลับมาอย่างชัดเจน
นี่คือสาเหตุว่าทำไมกลิ่นจึงมีอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างมากมาย
และคนเราก็รู้จักเลือกใช้กลิ่นหอมที่หลากหลายให้เกิดผลต่อร่างกายหรือจิตใจ
ต่างกันไปตามความต้องการ
ศิลปะการทำเครื่องหอมนั้นถือกำเนิดมาแต่โบราณ
ประวัติศาสตร์ตะวันตกบันทึกไว้ว่ามนุษย์นิยมใช้เครื่องหอมมาตั้งแต่สมัย
อียิปต์ สมัยนั้นยังไม่มีการทำน้ำหอม แต่มักใช้ดอกไม้ สมุนไพร
และเครื่องเทศต่างๆ ในการบูชาเทพเจ้า ภายหลังจึงเริ่มคิดค้นวิธีทำน้ำมันหอม
ขี้ผึ้ง ธูปหอมหรือกำยาน
สันนิษฐานว่าการทำเครื่องหอมนั้นแพร่หลายในโลกตะวันออกมาก่อนแล้ว
แต่ฝรั่งยุโรปเพิ่งมารู้จักการทำน้ำหอมเอาในยุค Renaissance
เพราะพวกที่ไปรบในสงครามครูเสดนำวัตถุดิบและน้ำหอมจากเอเชียเข้ามา
พร้อมกับที่นักเล่นแร่แปรธาตุในยุโรปสามารถคิดค้นกรรมวิธีผลิตน้ำหอมได้เป็น
ครั้งแรก
นับจากนั้น การผลิตน้ำหอมก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมา
น้ำหอมแต่ละยุคสมัยจะมีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สะท้อนอารมณ์หรือความรู้สึกร่วม
กันของผู้คน
อันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือเหตุการณ์สำคัญของแต่ละยุค
จนไม่แปลกที่จะกล่าวว่า กลิ่นหอมๆ
นั้นถือเป็นส่วนสำคัญของอารยธรรมมนุษย์เลยทีเดียว
ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ผู้ยิ่งใหญ่แห่งฝรั่งเศสนั้นพระราชวังแวร์ซายเป็นศูนย์กลางทางศิลปะและความ
งามของยุโรป ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของเครื่องหอมและเครื่องสำอาง
เล่าลือกันว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จะทรงอาบน้ำเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในรอบ
4 ปี
จนกลายเป็นแฟชั่นของชนชั้นสูงฝรั่งเศสสมัยนั้นที่ไม่นิยมอาบน้ำและหันมาใช้
เครื่องหอมประพรมร่างกายกันอย่างฟุ่มเฟือย นัยว่าเพื่อให้มีกลิ่นกายเย้ายวน
กระตุ้นอารมณ์ทางเพศนั่นเอง
แฟชั่นประหยัดน้ำนี้ยังฮิตต่อมาถึงสมัยจักรพรรดินโปเลียน
ผู้เคยตรัสประโยคเด็ดในสาสน์ที่ส่งถึงพระนางโจเซฟีน ผู้เป็นมเหสีว่า “Je
reviens en trois jours, ne te laves pas. เราจะกลับมาภายใน 3
วัน…อย่าอาบน้ำล่ะ”
กลิ่นกายของมเหสีจักรพรรดิฝรั่งเศสนั้นจะเย้ายวนหรือฉุนแรงขนาดไหน
ท่านผู้อ่านลองจินตนาการดูเองก็แล้วกัน
หลังยุคปฏิวัติฝรั่งเศส ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19
อุตสาหกรรมน้ำหอมเริ่มเข้าสู่ศักราชใหม่
มีการเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นชนชั้นกลาง
สินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราไม่ถูกจำกัดในหมู่ชนชั้นสูงอีกต่อไป กลิ่นแปลกๆ ใหม่ๆ
ถูกนำมาใช้ เช่น กลิ่นสังเคราะห์ หรือ aldehyde
ซึ่งเมื่อนำไปผสมกับกลิ่นดอกไม้แท้ๆ
จะออกมาเป็นกลิ่นใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว น้ำหอมกลิ่นแรกของโลกที่ใช้
aldehyde เป็นส่วนผสม และโด่งดังเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ก็คือ Chanel N.5
นั่นเอง
มีผู้เปรียบเทียบว่า
หากกลิ่นหอมที่สกัดจากดอกไม้แท้เป็นสวนดอกไม้ตามธรรมชาติ
กลิ่นดอกไม้เจือกลิ่น aldehyde
ก็คงเป็นภาพวาดสวนดอกไม้จากจินตนาการของศิลปินแนว Impressionism
ท่านผู้อ่านลองนึกถึงภาพจากปลายพู่กันของ Paul Gauguin หรือ Claude Monet
เส้นสายที่เคลื่อนไหวอย่างอิสระและสดใหม่ หรือสีสันกระจ่างสดใสดูเหนือจริง
มิใช่ภาพเหมือนหรือเลียนแบบธรรมชาติอย่างตรงไปตรงมา
แต่เป็นภาพที่กลั่นกรองจากความประทับใจของผู้วาด
ซึ่งได้ใช้สายตาบันทึกภาพความงามของสรรพสิ่งในธรรมชาติ แล้ว “ตีความ”
ออกมาในสไตล์ของตนเอง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเฟื่องฟู
พร้อมกับความนิยมแฟชั่นชั้นสูง (Haute Couture) สาวๆ
สมัยนั้นจึงหันมาใช้น้ำหอมหรูของดีไซเนอร์ดังที่ออกแบบเสื้อผ้าให้ซุเปอร์
สตาร์ฮอลลีวู้ด เมื่อถึงยุคสงครามเย็น วัฒนธรรมอเมริกันแพร่หลายไปทั่วโลก
แฟชั่นกางกางยีนส์และดนตรีร็อคแอนด์โรลเป็นที่นิยมสุดๆ
น้ำหอมจึงไม่ใช่สินค้าที่จำกัดไว้ให้ลูกค้าระดับบนอีกต่อไป
แต่คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ น้ำหอมชายกลิ่นแรกก็ถือกำเนิดขึ้นในเวลานี้
นับจากนั้น กลิ่นหอมก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมา ในยุคฮิปปี้-บุปผาชน
น้ำหอมถูกปรุงแต่งให้มีกลิ่นสดชื่น สะท้อนอิสรภาพ
ความเยาว์วัยและการกบฏต่ออำนาจ เมื่อถึงยุคของพวกยัปปี้และ
Materialismในทศวรรษ 1980 เกิดแฟชั่นเสื้อไหล่ตั้ง รัดเอวคอดกิ่ว สาวๆ
แต่งหน้าเข้มจัด ทรงผมพองฟู กลิ่นน้ำหอมเข้มข้นเย้ายวนของทั้งชายและหญิง
สะท้อนความแข็งแกร่ง การบูชาเงิน และอำนาจ
กระทั่งเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคมิลเลนเนียม
หลังผ่านสงครามและภัยพิบัติต่างๆ ผู้คนเริ่มปฏิเสธลัทธิบริโภคนิยม
หันมาใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น ความสดชื่นและความสงบจึงกลายเป็น theme
หลักของน้ำหอมยุคนี้ กลิ่นต่างๆ ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ เช่น ป่าเขา
ทะเล สวนดอกไม้ หรือกลิ่นที่ทำให้หวนนึกถึงความทรงจำวัยเยาว์ อย่างกลิ่นขนม
หรือผลไม้ ผู้เขียนจำได้ว่า
เคยได้กลิ่นเหล่านี้ตามเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้ามากจนเอียน
ต้องหันกลับมาหากลิ่นดอกไม้ไทยๆ หรือกลิ่นคลาสสิกต่างๆ เพราะไม่ ‘กรีดร้อง’
มากจนเกินไปว่า “ฉันเป็นสาวรุ่นใหม่นะ”
การเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในยุค World Wide Web
ทำให้ผู้คนต่างสังคมวัฒนธรรมสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ง่ายดาย
น้ำหอมฝรั่งจำนวนมากได้แรงบันดาลใจจากศิลปวัฒนธรรมตะวันออกไกล
บางบริษัทผลิตน้ำหอมแบบ unisex
เป็นทางเลือกใหม่ในยุคที่เส้นแบ่งทางเพศจางลง
ผู้หญิงบางคนชอบกลิ่นสะอาดสดชื่นของน้ำหอมชาย
ขณะที่ผู้ชายเริ่มกล้าเผยด้านอ่อนไหวของตนเอง หนุ่มๆ
บางคนยอมรับว่าชอบใช้น้ำหอมกลิ่นหวานๆ แบบผู้หญิง
คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับความเป็น ‘ปัจเจก’ ที่มีสไตล์เฉพาะตัว
ความพยายามที่จะ ‘แตกต่าง’ อยู่เสมอ ทำให้ตลาดน้ำหอมระดับ niche หรือ
exclusive เติบโตอย่างรวดเร็ว มีแบรนด์ใหม่ๆ
ชื่อแปลกแต่เก๋ไก๋ออกสู่ตลาดมากจนจำแทบไม่ไหว
สะท้อนให้เห็นว่าคนรักน้ำหอมพร้อมจะจ่ายเงินก้อนโต
เพื่อครอบครองกลิ่นที่พิเศษ ไม่ซ้ำใคร
ยิ่งชื่อจำยากเท่าไหร่ก็ยิ่งดูโดดเด่นน่าสนใจ
อีกทั้งผลิตจากส่วนผสมคุณภาพสูงที่คัดสรรมาอย่างดี
จึงแตกต่างอย่างชัดเจนจากน้ำหอมที่มีขายทั่วไปในห้างสรรพสินค้า
กระแส Retro ที่แพร่หลายในปัจจุบันยังทำให้น้ำหอมรุ่น vintage
ที่ผลิตมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด
หรือกลิ่นที่เลิกผลิตไปแล้วเป็นที่นิยมสุดๆ
ยิ่งหายากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีค่ามากเท่านั้น
บริษัทฝรั่งหลายแห่งหันมาเอาดีในธุรกิจ “ตามหาน้ำหอมที่หาย”
เพื่อเอาใจคนจำนวนมากซึ่งโหยหากลิ่นที่เคยใช้ในวัยเยาว์และไม่สามารถซื้อหา
ได้ตามท้องตลาดอีกต่อไป สะท้อนว่ากลิ่นหอมๆ
นั้นจับจองที่นั่งพิเศษในใจใครหลายคน เพราะเชื่อมโยงกับความทรงจำดีๆ
ในชีวิตที่อยากเรียกกลับคืน
*ผู้ที่ต้องการนำบางส่วนของบทความไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์ชนิดใดก็ตาม กรุณาระบุที่มาของข้อมูลด้วย…ขอบคุณมากค่ะ
กรกฎาคม 4, 2009
On Scents and Gender
Posted by sangkae under น้ำหอม | ป้ายกำกับ: androgyny, ความเป็นกุลสตรี (feminity), ความเป็นชายชาตรี (macho), น้ำหอมชาย, น้ำหอมหญิง, เพศ, เพศสภาพ |Leave a Comment
ช่วงนี้บ้านผู้เขียนกำลังอยู่ระหว่างการซ่อมแซมและต่อเติม
ซึ่งคงจะกินเวลานานหลายเดือนเลยทีเดียว
ทุกวันจึงคุ้นชินกับภาพบรรดาช่างก่อสร้างเดินวนเวียนอยู่ในบริเวณบ้าน
พร้อมด้วยเสียงอึกทึกครึกโครมของอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ
ที่กระทบเข้ากับไม้ อิฐ ปูน เหล็ก
และอะไรก็ตามที่ประกอบขึ้นเป็นตัวบ้านหลังเก่าบางส่วนที่ถูกทุบทิ้งไป
ฟังแล้วก็น่าทึ่งที่บรรดาชายที่ทั้งหนุ่มและไม่หนุ่มเหล่านี้ช่างมีเรี่ยว
แรงมากเสียเหลือเกิน
จนนึกเห็นภาพกล้ามเนื้อที่ปูดโปนและเหงื่อที่ไหลโซมกายซึ่งกรำงานหนักขึ้นมา
ได้ทันที…อะแฮ่ม…ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งเข้าใจว่าผู้เขียนคิดอะไรมิดีมิร้ายไป
เสียล่ะ
เพียงแต่มันชวนให้คิดว่าพื้นที่ในการก่อสร้างนี้ช่างเป็นพื้นที่ของผู้ชาย
เสียจริงๆ อย่างยากที่ผู้หญิงจะแทรกเข้าไปได้
ถึงจะมีก็เป็นส่วนน้อยและมักเป็นการช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น
คอยส่งอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือให้ หรือทำอะไรที่ไม่ต้องใช้แรงมากนัก
ทำให้นึกถึงคำกล่าวที่ว่า ความแข็งแกร่งของร่างกาย หรือ physical
strength นี้เป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างไว้ให้แก่เพศชายโดยเฉพาะ
ชดเชยกับการที่พระองค์ได้ประทานความนุ่มนวลอ่อนหวานและความเข้าใจในสิ่งที่
ละเอียดซับซ้อนและปราณีตไว้ให้แก่ผู้หญิง เมื่อผู้เขียนได้กลิ่นไม้ ปูน
เหล็ก
รวมทั้งกลิ่นบุหรี่ที่ผสมกับกลิ่นเหงื่อจากร่างกายของช่างก่อสร้างเหล่านี้
อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจนคุ้นชิน ก็เลยอดที่จะเชื่อมโยงกลิ่นเหล่านี้เข้ากับ
‘ความเป็นชาย’ ไปไม่ได้
การลงแรงก่อสร้างบ้านเรือนนี้ถือเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่สุด
ถึงพลังอำนาจของผู้ชาย ขณะที่ในบริบทแวดล้อมของการทำงานอื่นๆ
คงเห็นได้ไม่ชัดเท่านี้ เพราะทุกวันนี้เส้นแบ่งทางเพศจางลงทุกที
แนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ
และความเท่าเทียมทางเพศเป็นค่านิยมที่แพร่หลายไปทั่วโลก ที่สำคัญคือ
“ความรู้อาจเรียนทันกันหมด”
เราจึงเห็นผู้หญิงจำนวนมากก้าวเข้าไปในพื้นที่ที่เคยถูกครอบงำโดยเพศชายมา
ก่อน ไม่ว่าจะเป็น นักบริหาร วิศวกร สถาปนิก ทหาร ตำรวจ ไล่มาจนถึงคนขับรถ
ส่วนผู้ชาย (แท้)
หลายคนก็เชี่ยวชาญในวิชาชีพที่เคยถูกคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นงานของผู้หญิง
เช่น พ่อครัว นักจัดดอกไม้ ช่างเสริมสวย หรือช่างตัดเสื้อสตรี
ความนิยมชมชอบผู้ชายที่มีรูปลักษณ์และบุคลิกลักษณะแบบ macho man
หรือผู้หญิงแบบ ultra feminine
ยังอาจถึงขั้นเป็นที่น่าหัวเราะในความคิดของเด็กรุ่นใหม่ไปเลยด้วยซ้ำ
ดูได้จากกระแสนิยมหนุ่มบอยแบนด์เกาหลีที่รูปร่างโปร่งบาง
หน้าอ่อนใสแถมผิวเนียนสวยเหมือนผู้หญิง
แถมยังพิถีพิถันเรื่องการตกแต่งร่างกายตามสไตล์หนุ่ม metro sexual ส่วนสาวๆ
สมัยใหม่จำนวนมากก็ชอบใช้ชีวิตและแต่งองค์ทรงเครื่องแบบ tom boy
ผสมผสานกับความอ่อนหวานแบบหญิงๆ เป็นกระแส androgyny
ที่แพร่หลายทั่วไปในสังคมเสรีในปัจจุบัน
แต่ไม่ว่ากระแสสังคมจะเคลื่อนไปในทิศทางใดก็ตาม ลึกๆ
แล้วตัวผู้เขียนเองก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่า
เส้นแบ่งระหว่างความเป็นชายและความเป็นหญิงนั้นมีอยู่จริง
อย่างน้อยก็ในเรื่องรูปกายภายนอกที่ประกอบด้วยเครื่องบอกเพศต่างๆ
ซึ่งเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างไว้เพื่อให้เกิดการดึงดูดกันระหว่างเพศตรงข้าม
ด้วยเหตุผลในการสืบทอดเผ่าพันธุ์
(อันนี้หมายถึงเฉพาะกรณีชายจริงหญิงแท้เท่านั้น) และในกรณีของผู้เขียน
ก็คือความแตกต่างในเรื่อง physical strength
ที่ต่อให้ฝึกฝนร่างกายตัวเองอย่างไรก็ไม่มีวันเทียบเท่าช่างก่อสร้างเหล่า
นี้ได้แน่
เคยมีคนบอกว่า ‘ความเป็นชายชาตรี’ หรือ ‘ความเป็นกุลสตรี’ นั้น
แท้จริงแล้วเป็นกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมวัฒนธรรม
หรือเป็นสิ่งที่แต่ละสังคมสร้างให้กับเรา
มากกว่าจะเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาแต่เกิด
แต่ผู้เขียนว่าการเรียนรู้ทางสังคมนี้มันก็มีรากฐานมาจากลักษณะทางชีววิทยา
ของมนุษย์นั่นแหละ เป็นธรรมชาติที่ปฏิเสธไม่ได้
ที่สำคัญมันก็มีประโยชน์คือช่วยในการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของมนุษย์ใน
สังคม
ตามความถนัดหรือความเชี่ยวชาญอันเป็นผลมาจากลักษณะทางชีววิทยาของมนุษย์แต่
ละคน
ผู้เขียนเข้าใจว่า
ในเมื่อผู้ชายส่วนใหญ่เกิดมามีร่างกายแข็งแรงกว่าผู้หญิง
และมักมีสติปัญญาเชิงกลไกสูง
ก็จึงถูกคาดหวังให้รับผิดชอบหน้าที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง เครื่องยนต์กลไก
หรือการป้องกันประเทศ
ขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่มีความสามารถในการทำงานที่ละเอียดประณีตหรือซับซ้อน
ก็เลยถูกคาดหวังให้รับผิดชอบหน้าที่หลักในการดูแลบ้านและครอบครัว
รวมถึงงานอื่นๆ ที่ต้องอาศัยสัญชาตญาณ อารมณ์ความรู้สึก
และมุมมองของผู้หญิง ซึ่งผู้เขียนว่าจริงๆ
แล้วมันก็ไม่ได้สื่อว่าใครเหนือกว่าใคร หรือเก่งกว่าใคร
แต่เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำตามลักษณะเฉพาะของแต่ละคน
ซึ่งก็มีประโยชน์ในการเติมเต็มจุดอ่อนด้อยของแต่ละฝ่าย
ส่วนใครที่สามารถพัฒนาทักษะหรือความสามารถอันโดดเด่นแตกต่างออกไปจากลักษณะ
ร่วมทั่วๆ ไปทางเพศของตัวเองดังที่กล่าวข้างต้น
ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสก้าวล่วงเข้าไปในโลกแห่งการงานที่ถูกมองว่าเป็นของ
เพศตรงข้ามเอาเสียเลย
อย่างที่เราเห็นว่ามีนักปกครองหรือนักการทหารหญิงที่ประสบความสำเร็จอยู่
หลายคนในประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับพ่อครัวหรือพ่อบ้าน (butler)
อีกจำนวนมากที่ทำงานได้อย่างไร้ที่ติ และภาคภูมิใจในวิชาชีพของตน
ว่ากันว่า สิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกัน
มักจะมีแรงดึงดูดซึ่งกันและกันอยู่เสมอ ในโลกของกลิ่นหอม
ก็เลยมีคนเล่นกับประเด็นนี้อยู่เสมอ ด้วยการสร้างสรรค์กลิ่นที่บอก
‘ความเป็นชาย’ และ ‘ความเป็นหญิง’
รวมทั้งตอกย้ำด้วยภาพโฆษณาที่แสดงออกถึงเสน่ห์เย้ายวนทางเพศ
เพื่อให้ผู้ที่ซื้อหามาประพรม
ได้ใช้เสริมเสน่ห์ของตัวเองให้เป็นที่ต้องใจเพศตรงข้าม
เพราะคนเรานั้นไวต่อกลิ่นอย่างมากและทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่ปฏิเสธว่าการรับรู้
กลิ่นของมนุษย์มีผลต่อการเลือกคู่และกิจกรรมทางเพศ
กลิ่นที่เชื่อว่าบ่งบอกความเป็นชาย ก็เช่น กลิ่นสดชื่นของน้ำหรือทะเล
กลิ่นสมุนไพร เครื่องเทศ หรือไม้หอมที่สื่อถึงป่าเขาลำเนาไพร
หรือกลิ่นยาสูบซึ่งเป็นของชอบของผู้ชายจำนวนมาก
กลิ่นเหล่านี้มักสื่อถึงการเดินทางหรือการผจญภัยซึ่งเป็นคุณลักษณะของผู้ชาย
ที่เชื่อกันว่าเซ็กซี่เย้ายวนและถูกใจผู้หญิงส่วนใหญ่
ส่วนกลิ่นที่บอกความเป็นหญิงก็เช่นกลิ่นดอกไม้
กลิ่นวานิลลาหรือขนมหวานต่างๆ ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นอ่อนหวาน
ซึ่งเชื่ออีกเช่นกันว่าเป็นคุณลักษณะในตัวผู้หญิงที่ผู้ชายชอบ
แต่ก็นั่นแหละ…ใช่ว่าผู้ซื้อน้ำหอมสมัยนี้จะติดอยู่กับกรอบความเป็นชาย
และความเป็นหญิงของกลิ่นเหล่านี้เสมอไป
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรที่ผู้ชาย (แท้)
บางคนใส่น้ำหอมกลิ่นดอกไม้ของผู้หญิง หรือผู้หญิง (แท้)
หลายคนชอบกลิ่นสดชื่นของน้ำหอมชาย
เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของความชอบหรือรสนิยมส่วนตัวที่จะมาบังคับกะเกณฑ์กัน
ไม่ได้
รวมทั้งเหตุผลที่ว่าน้ำหอมซึ่งประพรมลงไปนั้นยังอาจทำปฏิกิริยากับผิวหนัง
ของแต่ละคนในลักษณะที่ต่างกัน จนเกิดเป็นกลิ่นหอมเฉพาะตัว
ซึ่งให้อารมณ์ที่แตกต่างออกไปจากกลิ่นน้ำหอมในขวดอย่างน่าประหลาด
เรื่องที่ว่าน้ำหอมนั้นออกแบบมาสำหรับผู้ชายหรือผู้หญิงก็เลยไม่ค่อยมีความ
สลักสำคัญอะไรสำหรับหลายๆ คน
ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ดูสอดคล้องกับกระแสสังคมสมัยนี้
ที่พยายามแหกออกจาก “stereotype” ทางเพศ ดังนั้นไม่ว่าจะถูกใจกลิ่นแบบไหน
จะเป็นน้ำหอมชายหรือน้ำหอมหญิง ก็สามารถซื้อหามาประพรมได้ตามชอบ
อย่างไม่เห็นต้องเกรงสายตาใครอีกต่อไป (โดยเฉพาะในกรณีของผู้ชาย (แท้)
ที่ซื้อน้ำหอมหญิงไปใช้เอง)
และไม่ต้องแคร์ว่ากลิ่นเหล่านั้นจะทำให้ความเป็นชายหรือความเป็นหญิงของตนลด
น้อยลงไปสักแค่ไหน
ตราบเท่าที่กลิ่นหอมนั้นสามารถตอบสนองต่อความชอบหรือความสนใจบางอย่าง เช่น
หนุ่มๆ บางคนที่หลงใหลการปลูกดอกไม้ ก็อาจจะชอบกลิ่นดอกไม้ต่างๆ
ที่เป็นส่วนผสมหลักในน้ำหอมผู้หญิง
ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่มีหรือมีความเป็นชายน้อยกว่าหนุ่มอื่นๆ
ก็กลายเป็นเรื่องดีตรงที่เป็นอิสรภาพของคนชอบน้ำหอม
ชนิดที่ว่าใครใคร่ใส่…ใส่ เป็นการเปิดกว้างให้สามารถเลือกใช้กลิ่นต่างๆ
ได้หลากหลายไม่มีขีดจำกัด
เรียกว่าเป็นการเดินทางที่ไม่ธรรมดาสู่โลกของกลิ่นหอมอันกว้างใหญ่ซึ่งรอคอย
ให้คุณได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ อย่างที่มีคนบอกไว้ว่า never say never
ถ้ามันเกี่ยวกับการเลือกน้ำหอม
เพราะไอ้สิ่งที่คุณเกลียดนักเกลียดหนาเวลาดมเข้าไปครั้งแรก
เมื่อลองดมใหม่อีกครั้ง ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า
กำแพงแห่งอคติที่คุณสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติว่า “ไม่…ฉันไม่ชอบกลิ่นนี้”
ก็จะเริ่มทลายลง นานเข้าคุณอาจรู้สึกว่าไม่มีกลิ่นที่ ‘รัก’ หรือ ‘เกลียด’
เอาจริงๆ แต่ทุกๆ กลิ่นมีคาแรคเตอร์ที่น่าสนใจแตกต่างกัน
ชวนให้ค้นหาลึกซึ้งเข้าไปเรื่อยๆ
กลายเป็นเรื่องสนุกที่จะได้ทดสอบประสาทสัมผัสเรื่องการรับกลิ่น
ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับการมองเห็น การได้ยิน
การลิ้มรส หรือการสัมผัส
แต่กลับเป็นส่วนที่ละเอียดอ่อนและส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของเราได้
อย่างลึกซึ้งยิ่งกว่าประสาทสัมผัสอื่นๆ … Wish you all have wonderful
olfactory journey!
*ผู้ที่ต้องการนำบางส่วนของบทความไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์ชนิดใดก็ตาม กรุณาระบุที่มาของข้อมูลด้วย…ขอบคุณค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น